หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ไวภพ กฤษณสุวรรณ
 
เข้าชม : ๑๖๗๙๒ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบความเชื่อเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับพระพุทธศาสนาเถรวาท (สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ)
ชื่อผู้วิจัย : ไวภพ กฤษณสุวรรณ ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีรัตโนบล
  คงสฤษฎ์ แพงทรัพย์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง “ศึกษาเปรียบเทียบความเชื่อเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับพระพุทธศาสนาเถรวาท” นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความเชื่อกรรมและการเกิดใหม่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ๒) เพื่อศึกษาความเชื่อกรรมและการเกิดใหม่ในพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อศึกเปรียบเทียบความเชื่อกรรมและการเกิดใหม่ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับพระพุทธศาสนา ในการศึกษานี้ เป็นการศึกษาข้อมูลเชิงเอกสาร

ผลการศึกษาพบว่า

ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เชื่อว่า พรหมเป็นศูนย์รวม และเป็นต้นกำเนิดแห่งวิญญาณทั้งปวง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนถือกำเนิดจากพรหม วิญญาณที่แยกออกไปจากพรหม อาจเข้าสถิตในร่างกายมนุษย์ สัตว์ พืชหรือกระทั่งเทวดาก็ได้ ทุกครั้งที่ร่างเดิมแตกดับ วิญญาณก็ไปอุบัติในร่างใหม่ เรียกว่า ภพหนึ่งหรือชาติหนึ่ง ขณะที่วิญญาณยังอยู่ในร่าง ได้กระทำกรรม ซึ่งมีทั้งกรรมดีกรรมชั่วคละเคล้ากัน มนุษย์จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุส่งผลให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด ครั้นสามารถเข้าถึงการไม่กระทำหรืออกรรมได้ จึงเป็นการเข้าถึงพรหมหรือปรมาตมัน อันเป็นปฐมเหตุของวิญญาณมนุษย์ก็จะพ้นจากกรรมและการเวียนว่าย เรียกว่า เข้าถึงโมกษะ

พระพุทธศาสนาเถรวาทมีความเชื่อเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตที่จุติ ไม่ใช่จุติจิตไปเกิดใหม่เป็นปฏิสนธิจิต สิ่งที่ถูกลำเลียงส่งจากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้า คือ พลังกรรม เรื่องการเกิดใหม่นั้น ไม่มีจิตหรือวิญญาณที่ข้ามภพข้ามชาติไปเกิดใหม่ จะมีแต่วิบากกรรมหรือพลังกรรมเท่านั้น ที่ถูกส่งข้ามภพข้ามชาติ พระพุทธศาสนาเรียกพลังกรรมที่ถูกส่งข้ามชาติ เพื่อก่อกำเนิดปฏิสนธิจิตในชาติหน้าว่า เป็น ชนกกรรม (กรรมที่เป็นตัวนำให้เกิด) เมื่อใด พลังกรรมนี้ ถูกทำลายไป เงื่อนไขของการเกิดใหม่ก็ถูกทำลายสะบั้น สิ้นกรรม ก็สิ้นชาติ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป นั้นคือสภาวะของผู้บรรลุนิพพาน

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับพระพุทธศาสนาเถรวาท มีทัศนะคล้ายกันในแง่ของความหมายและหลักการ ส่วนวิธีการที่จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดนั้นมีความต่างกัน โดยทัศนะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเห็นว่าผู้ปรารถนาจะพ้นจากการเวียนว่ายในวัฏฏสงสาร จะต้องปฏิบัติตามหลักกรรม ๔ ส่วนพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น ผู้ประสงค์จะหลุดพ้นจะต้องปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักปฏิบัติเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานไม่กลับมาเกิดอีก 

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕