หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสิริพิชญ์ เตชะไกรศรี
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๗ ครั้ง
การเผยแผ่ธรรมะเชิงรุกตามวิถีพุทธ : ศึกษาเฉพาะกรณี การจัดกิจกรรมธรรมะในสวน ณ สวนหลวง ร. ๙(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : นางสิริพิชญ์ เตชะไกรศรี ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีวรญาณ
  พล.ต. ดร.วีระ วงศ์สรรค์
  นายสนิท ศรีสำแดง
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

   การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวิธีการเผยแผ่ธรรมะเชิงรุกในสมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ซึ่งก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ธรรมะในสวน ณ สวนหลวง ร. ๙ ตลอดจนศึกษาผลสัมฤทธิ์ของโครงการธรรมะในสวน ณ สวนหลวง ร. ๙ การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงเอกสารและเชิงสำรวจ สำหรับการวิจัยเชิงสำรวจศึกษาจากผู้เข้าร่วมโครงการธรรมะในสวน ณ สวนหลวง ร. ๙ ทั้งหมดจำนวน ๓๐๐ คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และวิเคราะห์หาค่าสถิติด้วยโปรแกรม SPSS หาค่าความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า
๑. ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการเผยแผ่เชิงรุก โดยเสด็จไปแสดงธรรมแก่พุทธศาสนิกชนทุกระดับชั้นด้วยพระองค์เอง โดยทรงใช้พุทธวิธีการสอนในรูปแบบต่าง ๆ จนทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปทั่วประเทศอินเดีย ในสมัยหลังพุทธกาล การเผยแผ่ธรรมะเชิงรุก เจริญรุ่งเรืองที่สุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ที่ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในการปกครองประชาชน และได้ทรงส่งพระสมณทูต ๙ สายไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศต่างๆ ในสมัยปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการรูปแบบการเผยแผ่ธรรมะเชิงรุกต่างๆ ทั้งในส่วนของพระสงฆ์ และคฤหัสถ์ ในส่วนของพระสงฆ์ ได้แก่การศึกษาสงเคราะห์ และการสาธารณสงเคราะห์ ส่วนของคฤหัสถ์ ก็มีการจัดการเผยแผ่ธรรมะเชิงรุก ในรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา โดยได้นำหลักธรรมสำคัญ เช่น เบญจศีล เบญจธรรมพรหมวิหาร ๔ ฆราวาสธรรม ๔ ทิศ ๖ และอบายมุข ๖ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
๒. ความรู้ความเข้าใจในการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวันผู้เข้าร่วมโครงการธรรมะในสวน ณ สวนหลวง ร.๙ มีความรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
๓. ภายหลังที่เข้าร่วมโครงการธรรมะในสวน ณ สวนหลวง ร.๙ ผู้เข้าร่วมโครงการมีการปฏิบัติตนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา แตกต่างจากก่อนการเข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ และ .๐๕ เกือบทุกเรื่อง ซึ่งแสดงว่าโครงการธรรมะในสวน ณ สวนหลวง ร. ๙ มีผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามสมมติฐาน
๔. ผู้เข้าร่วมโครงการธรรมะในสวน ณ สวนหลวง ร. ๙ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเข้าร่วมในโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
Download :  255044.pdf

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕