หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาทรงชัย วิชยเภรี (ศิริ)
 
เข้าชม : ๑๖๕๘๘ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์เรื่องการบำรุงมารดาบิดาของภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาทรงชัย วิชยเภรี (ศิริ) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๙/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติมุนี
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักคำสอนเกี่ยวกับการบำรุงมารดาบิดาในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาลักษณะและวิธีการบำรุงมารดาบิดาของภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ (๓) เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางการบำรุงมารดาบิดาของภิกษุที่ปรากฏในสังคมไทย

 

              ผลการวิจัยพบว่า มารดา แปลว่า หญิงผู้รัก บูชา ซาบซึ้ง หรือยังบุตรให้ดื่ม ส่วน บิดานั้น แปลว่า ชายผู้รัก หรือคุ้มครองบุตร ซึ่งพระพุทธศาสนาถือว่า มารดาบิดาเป็นผู้มีความสำคัญต่อบุตรเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตแล้วเลี้ยงดูบุตรทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วยพรหมวิหารธรรม ทั้งเป็นผู้คอยคุ้มครองดูแล อบรมสั่งสอน จัดระบบการเป็นอยู่ พร้อมกับส่งเสริมเส้นทางดีงามที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่บุตรทุกด้าน ดังนั้น มารดาบิดาจึงอยู่ในฐานะที่บุตรพึงเทิดทูนอย่างสูงในชีวิตและพึงทำหน้าที่บำรุงเลี้ยงดูตอบแทนคุณทั้งทางร่างกายและทางจิตใจโดยผ่านหลักธรรมสำคัญ เช่น หลักกตัญญูกตเวทิตาธรรม หลักทิศ ๖ และสังคหวัตถุธรรม ๔ หากบุตรละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวก็อาจจะได้รับโทษจากทางรัฐ สังคม และผลกรรมข้างฝ่ายอกุศลได้ แต่ในทางกลับกันหากบุตรบำรุงเลี้ยงดูมารดาบิดาได้อย่างสมบูรณ์ ก็จะได้รับอานิสงส์และประโยชน์ข้างฝ่ายกุศลทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งยังเป็นผู้ชื่อว่าได้สืบสานเจตนาของเหล่าบัณฑิตชนมี พระพุทธเจ้าเป็นต้น ไม่ให้สูญหายไป

 

              การบำรุงมารดาบิดาสำหรับบุตรผู้เป็นคฤหัสถ์นั้นสามารถทำได้ครอบคลุมทุกด้านต่างกันกับบุตรผู้เป็นบรรพชิตที่มีเรื่องพระธรรมวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถึงอย่างไรก็ปรากฏพบว่ามีพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุสามารถบำรุงมารดาบิดาของตนได้อย่างคฤหัสถ์ตามรูปแบบและวิธีการเดียวกัน ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ (๑) การบำรุงทางร่างกาย ได้แก่ การบำรุงด้วยปัจจัย ๔ พร้อมกับการทำกายภาพ หรือการบริหารร่างกายต่างๆ ให้แก่มารดาบิดา โดยมีจุดหมายเพื่อทำให้ท่านมีสุข-ภาวะทางกายที่ดีและสมบูรณ์ (๒) การบำรุงทางจิตใจ ได้แก่ การทำให้ท่านดำรงอยู่ในคุณธรรมสำคัญ เช่น หลักสัมปทา ๔ ได้แก่ ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา โดยมีจุดหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพจิตและยกระดับภาวะของมารดาบิดาจากปุถุชนขึ้นสู่กัลยาณชน กระทั่งสูงสุดสู่ภาวะอริยชน โดยมีรูปแบบของพระพุทธเจ้าและพุทธสาวกเป็นแบบอย่างปฏิบัติสำคัญ ซึ่งหากการบำรุงทั้ง ๒ ลักษณะนี้ ภิกษุละเลย เพิกเฉย หรือไม่สามารถปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานภาพของตนก็อาจได้รับโทษทางพระวินัย ทั้งยังอาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกสังคมติเตียน แต่ในทางกลับกันหากภิกษุปฏิบัติบำรุงมารดาบิดาได้อย่างสมบูรณ์ก็ย่อมได้รับประโยชน์ ๓ ประการ คือ (๑) ประโยชน์ส่วนตน (๒) ประโยชน์แก่ผู้อื่น มีมารดาบิดาเป็นต้นเป็นประธาน และ (๓) ประโยชน์แก่พระศาสนา อย่างบริบูรณ์เช่นกัน

              ในสังคมไทยปัจจุบัน การบำรุงมารดาบิดาของภิกษุมีความแตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากพบว่าครอบครัวไทยมีความยึดโยงอยู่กับระบบเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม และสังคมอยู่ทุกขณะ จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อการเป็นอยู่ของมารดาบิดาเป็นวงกว้าง ยิ่งโดยเฉพาะมารดาบิดาอยู่ในวัยชรา เกิดทุพพลภาพ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ กอปรกับไม่มีบุตรหลานคอยเอาใจใส่เลี้ยงดูด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้การบำรุงมารดาบิดาของภิกษุในปัจจุบันประสบกับปัญหาเพิ่มมากขึ้นเหตุเพราะมีเงื่อนไขทางด้านพระธรรมวินัยเป็นข้อจำกัด ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงได้กำหนดปัญหาเป็นกรณีศึกษาเพื่อการวิจัยอยู่ ๔ ประเด็น (๑) ปัญหาของมารดาบิดาผู้อยู่ในวัยชรา (๒) ปัญหาของมารดาบิดาผู้อยู่ในคราวเจ็บป่วย (๓) ปัญหาของภิกษุทำกสิกรรมช่วยมารดาบิดา และ (๔) ปัญหาของภิกษุกราบไหว้มารดาบิดา ซึ่งแต่ละประเด็นปัญหานั้น พบว่าล้วนเกิดมาจากการที่ภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมารดาบิดาของตนด้วยมุ่งหวังจะแบ่งเบาภาระทางร่างกายเป็นสำคัญ แต่ทว่าการเข้าไปจัดการของภิกษุนั้นยังไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างสอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัยเท่าที่ควรจะเป็น เช่น มีพุทธบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุถูกเนื้อต้องตัวมารดา หรือประกอบธุรกรรมทางโลกแทนโยมมารดาบิดา จึงต้องอาศัยบุคคล ๒ กลุ่มเข้ามาร่วมกันจัดการอย่างเหมาะสม คือ (๑) กัลยาณมิตร ได้แก่ ญาติสายโลหิต และญาติทางธรรม (๒) ภาครัฐและสังคม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการบำรุงทั้ง ๒ ประการ คือ (๑) เป้าหมายทางด้านร่างกาย และ (๒) เป้าหมายทางด้านจิตใจ ได้อย่างสมบูรณ์ถูกถ้วนตามหลักจริยธรรม และหลักพระธรรมวินัย

 Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕