หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ลิขิต บุญละคร
 
เข้าชม : ๑๖๕๘๕ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์พัฒนาการแห่งศรัทธาของชาวพุทธในสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : ลิขิต บุญละคร ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  อรชร ไกรจักร์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ มกราคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์พัฒนาการแห่งศรัทธาของชาวพุทธในสังคมไทย” นี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาความหมาย ความสำคัญ และประเภทของศรัทธาในพระพุทธศาสนา 2) เพื่อศึกษาพัฒนาการแห่งศรัทธาของชาวพุทธในสังคมไทย และ 3) เพื่อวิเคราะห์พัฒนาการแห่งศรัทธาของชาวพุทธในสังคมไทย โดยงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงเอกสารเป็นสำคัญ แล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในเชิงพรรณนา

ผลการศึกษาพบว่า ความเชื่อในพุทธศาสนาเน้นความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล และพิจารณาด้วยปัญญา หาเหตุผลให้เห็นจริงแก่ใจจึงเชื่อ เป็นศรัทธาที่สัมปยุตด้วยปัญญา ส่วนศรัทธาที่เกิดจากอวิชชาปราศจากปัญญา เป็นศรัทธาที่ไม่มีเหตุผล ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ จัดเข้าในศรัทธาญาณวิปยุต เมื่อมนุษย์มีศรัทธาจะไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ศรัทธาแต่จะต้องมีกระบวน การพัฒนาให้เกิดปัญญาและสามารถพัฒนาขึ้นจนถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตได้ คือการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงอย่างอิสระ มีเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน

คนไทยมีศรัทธาเคารพนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยทวารวดีโดยปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวสัมพันธ์ทั้งทางด้านศิลปกรรมและวรรณกรรมคำสอน โดยพระพุทธศาสนานั้นได้มีอิทธิพลต่อความเชื่อของชาวไทยพุทธที่สำคัญ 2 ประการ คือ ความเชื่อในพระรัตนตรัย และความเชื่อกฎแห่งกรรม โดยมีความเชื่อว่า การที่บุคคลผู้มีศรัทธาประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต สามารถยกจิตของตนให้บริสุทธิ์พ้นจากกิเลสได้ในที่สุด ส่วนการเชื่อกฎแห่งกรรม มีผลต่อคุณภาพชีวิตคือการพัฒนาตนเองตามวิถีกฎแห่งกรรมด้วยอาศัยสติเป็นกำลังสนับสนุนในการครองตนให้มีสุขได้

พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ด้วยอาศัยความศรัทธาของพุทธบริษัทชาวไทย โดยเห็นปรากฏจากงานศิลปกรรมของช่างฝีมือต่างๆ ที่สร้างขึ้นด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา ได้แก่ 1) ด้านสถาปัตยกรรม คืองานที่สรรสร้างเป็นถาวรวัตถุอันสวยงาม เช่น พระปรางค์เป็นสถูปหรือเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า 2) ด้านประติมากรรม เป็นการสร้างด้วยความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา โดยประติมากรรมที่โดดเด่นที่สุดก็คือพระพุทธรูป 3) ด้านจิตรกรรม งานจิตรกรรมเป็นภาพเขียนในทางพระพุทธศาสนา ที่ปรากฏอยู่ตามโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ แม้แต่ในคูหา องค์ปรางค์ รวมทั้งอาคารต่างๆ นอกจากจะมีไว้เพื่อประดับตกแต่งในโบสถ์วิหารให้เกิดความสวยงามแล้ว ยังเป็นการสื่อธรรมและเล่าเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาผ่านงานวิจิตรศิลป์ และ 4) วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาโดยมากจะมุ่งสอนใจของบุคคลให้รู้ดีรู้ชั่ว กล่อมเกลาจิตใจให้ประณีตงดงามขึ้น เว้นจากสิ่งที่ชั่วให้ประพฤติในสิ่งที่ดีงาม จึงได้เรียกกันว่าวรรณกรรมคำเทศน์ ได้แก่ ไตรภูมิพระร่วง มหาชาติคำหลวง พระมาลัยคำหลวง เป็นต้น

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕