หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สุวิน มักได้
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์พุทธศิลป์ล้านนาที่ปรากฏในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์
ชื่อผู้วิจัย : สุวิน มักได้ ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  อาภากร ปัญโญ
  พูนชัย ปันธิยะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ สิงหาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์พุทธศิลป์ล้านนาที่ปรากฏในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและเนื้อหาของคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ (๒) เพื่อศึกษาพุทธศิลปกรรมล้านนาในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ และ (๓) เพื่อวิเคราะห์คุณค่าของพุทธศิลปกรรมล้านนาที่ปรากฏในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร (Documentary  Research) ผลการศึกษา พบว่า

 

 คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์  เป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพระรัตนปัญญาเถระ ชาวล้านนา ได้แต่งขึ้นเป็นภาษีบาลี ระหว่าง พ.ศ.๒oo -o๗๑ ในราชอาณาจักรล้านนา เนื้อหาของชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นการรวบรวมประวัติของพระสมณโคดมพุทธเจ้า หรือ พระชินเจ้า ไว้อย่างละเอียด โดยเริ่มต้นตั้งแต่อดีตกาลครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ตั้งความปรารถนาอยากเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต พระองค์ได้สั่งสมบารมีมาโดยตลอด จนมาถึงชาติที่เป็นพระสุเมธฤาษีได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นปฐม ทั้งได้พบพระพุทธเจ้าองค์ต่อๆมาเป็นลำดับมีจำนวนถึง ๒๔ พระองค์  จนในปัจจุบันกาล พระชาติสุดท้าย พระโพธิสัตว์ทรงอุบัติในราชสกุล วงศ์ศากยะ โคตมโคตร ทรงออกผนวช บำเพ็ญเพียรจนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพุทธกิจเป็นเวลา ๔๕ พรรษา จนวาระสุดท้าย เมื่อพระชนม์ได้ ๘๐ พรรษาพระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน  

 

พุทธศิลปกรรมล้านนาที่กล่าวในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ สามารถจำแนกออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ประเภทประติมากรรม เป็นงานศิลปะแสดงออกด้วยการปั้น แกะสลัก หล่อ และการจัดองค์ประกอบความงามอื่นลงบนสื่อต่างๆ การสร้างพระพุทธรูปในล้านนา การสร้างพระพุทธรูปไม้ในล้านนา ประเภทสถาปัตยกรรม  เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกถึงสิ่งก่อสร้าง รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก สัตว์ป่าหิมพานต์ถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของวัด ลวดลายมงคล ความหมายเชิงสัญลักษณ์ ประเภทหัตถกรรม เช่น ภาพพระบฏ ขันดอก ขันแก้วทั้งสาม โคม สัตตภัณฑ์ อาสนะ เครื่องสูงหรือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ แว่นพระเจ้า  ธรรมมาสน์ หีบธรรม ตุงเดี่ยวหรือตุงค่าคิง ตุงไส้หมู  ตุงไชย  ช่อ ต้นดอก ต้นผึ้ง

ในด้านวิเคราะห์คุณค่าของพุทธศิลปกรรมล้านนาที่ปรากฏในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ พบว่าพุทธศิลปกรรมเหล่านี้ ได้สะท้อนคุณค่าด้านหลักธรรมเพื่อการพัฒนาตนให้เป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านพฤติกรรม จริยธรรม ด้านจิตใจ สติปัญญา และด้านสังคม  คุณค่าในด้านความเชื่อพบว่า พระรัตนปฏิมา ทรงอานุภาพมีฤทธิ์เดชหาประมาณไม่ได้ คุณค่าในด้านประเพณี คือนับแต่พระเจ้าแสนเมืองได้อัญเชิญพระสีหลปฏิมาจากเชียงรายมาเมืองเชียงใหม่ แล้วทรงสักการบูชาโดยเคารพ ก็ได้สืบทอดเป็นประเพณีการบูชาพระพุทธสิหิงในสมัยต่อมา และประเพณีการหุ้มพระธาตุเจดีย์ วัดหลวง ในหริปุญชัยด้วยแผ่นทองคำ คุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ ได้เล่าถึงการสร้างเมืองหริปุญชัย เรื่อง พระนางจัมมเทวี เรื่องพญามังรายมาสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นมา จนถึงการสังคายนาพระไตรปิฎกที่ดินแดนล้านนา ทั้งหมดที่กล่าวมา คือคุณค่าได้มาจากพุทธศิลป์ที่ปรากฏในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์นั่นเอง

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕