หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูใบฎีกาธนวัฒน์ ปญฺญาวุโธ (สุดารัศมิ์โภคิน)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๐ ครั้ง
โอวาทธรรมของพระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความตาย
ชื่อผู้วิจัย : พระครูใบฎีกาธนวัฒน์ ปญฺญาวุโธ (สุดารัศมิ์โภคิน) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาอินทร์วงค์ อิสฺสรภาณี
  ชญาน์นันท์ อัศวธรรมานนท์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

   วิทยานิพนธ์เรื่อง “โอวาทธรรมของพระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความตาย” เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Quality Research) ศึกษาด้านเอกสาร (Documentary Research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (Indept Interview) มีวัตถุประสงค์คือ     ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือกับความตายของพุทธบริษัทในสมัยพุทธกาล                  ๒) เพื่อศึกษาโอวาทธรรมของพระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมรับมือกับความตาย และ ๓) เพื่อวิเคราะห์แนวทางการเตรียมพร้อมรับมือกับความตายกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

 

             ผลการศึกษาพบว่า ความตาย หมายถึง การสิ้นไปหรือความดับของชีวิต เป็นสภาวะของการยุติการทำงานของขันธ์ ๕ อย่างสิ้นเชิง มีองค์ประกอบ ๒ ลักษณะ คือการตายทางด้ายกายภาพ ได้แก่ การดับของขันธ์ ๕ และการตายทางด้านจิตวิญญาณ ได้แก่ การตายจากคุณงามความดี จำแนกออกเป็น ๔ ประเภท คือ การตายจากภพที่เป็นของสรรพสัตว์ทั่วไป การตายที่ขาดจากภพ การตายชั่วขณะที่เกิดขึ้นทุกลมหายใจ และการตายโดยสมมติของชาวโลก สาเหตุของการตายในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ หลักใหญ่ คือ เกิดจากกรรมวิบากและอายุขัย

 

   สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือกับความตายของพุทธบริษัทในสมัยพุทธกาล งานวิจัยนี้ศึกษากรณีของพระสารีบุตร พระอานนท์ พระนางปชาบดีเถรี พระนางเขมาเถรี อนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร นางวิสาขา และนางสุมนาเทวี จากการศึกษาพบว่า เนื่องจากท่านเหล่านี้เป็นพระอริยบุคคลจึงมีการเตรียมตัวตายที่ดี ไม่มีความประมาท ก่อนตายได้มีการทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า จากนั้นก็ทำกิจหรือภาระสุดท้ายของตนให้เรียบร้อย แล้วจึงตายหรือนิพพานอย่างมีสติ

 

 

 

             ในส่วนของโอวาทธรรมของพระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมรับมือกับความตาย พบว่า พระพรหมมงคลได้นำหลักสติปัฏฐาน ๔ มาสู่การปฏิบัติเป็นรูปแบบที่ชัดเจน เข้าใจง่าย สามารถปฏิบัติได้และเห็นผลได้ มีจุดเด่น คือการกำหนดอิริยาบถย่อยอย่างต่อเนื่อง อิริยาบถย่อยเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการกำกับสติให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการกำหนดให้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ทำให้เกิดช่องว่างของสติ พระพรหมมงคลมีโอวาทที่เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือกับความตายจำแนกตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้ และเอากายเป็นฐานที่ระลึกถึงความเสื่อมของกาย เพื่อไม่ให้เกิดความประมาทใจการดำเนินชีวิต                 ๒.เวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน ให้เฝ้าดูหรือสังเกตการณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพื่อให้คุ้นเคยกับเวทนาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในยามสิ้นใจ ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้มีจิตมั่นคง สะอาด ไม่หวั่นไหว และ ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปักฐาน ให้พิจารณาธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริง

 

   แนวทางการเตรียมพร้อมรับมือกับความตายกับการดำเนินชีวิตประจำวัน จำแนก ๓ กลุ่ม คือ ๑. ความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับความตาย ได้แก่ มีสติไม่หลงตายกับมีสุคติเป็นที่ไปเบื้องต้น ๒. หลักคิดเพื่อการเตรียม มี ๔ แนวทาง ได้แก่ อยู่อย่างมีความเพียรทางด้านร่างกาย                 อยู่อย่างมีความเพียรทางด้านจิตใจ ๓) อยู่อย่างมีความเพียรในการดำเนินชีวิต และ ๔) อยู่เพื่อเตรียมตัวตายอยู่เสมอ ส่วนการการประยุกต์ใช้การเตรียมพร้อมรับมือกับความตายในชีวิตประจำวัน มี ๒ แนวทางได้แก่ การปรับปรุงพฤติกรรมและการพัฒนาจิตใจ

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕