หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระชวลิต ปญฺญาวชิโร (แสงบุญเรือง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๕ ครั้ง
การพัฒนาพลเมืองเชิงพุทธบูรณาการของหมู่บ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
ชื่อผู้วิจัย : พระชวลิต ปญฺญาวชิโร (แสงบุญเรือง) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  จีรศักดิ์ ปันลำ
  พระอธิการสุชาติ จนฺทสโร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีการพัฒนาพลเมืองตามบรรทัดฐานของสังคมไทย และแนวทางการพัฒนาพลเมืองของหมู่บ้านสามขา
อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาพลเมือง
๓) เพื่อสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาพลเมืองเชิงพุทธบูรณาการของหมู่บ้านสามขาอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง การศึกษานี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ
(Qualitative Research) โดยใช้วิธีวิจัย ๒ อย่าง คือ การวิจัยเชิงเอกสาร (Document Research) และการวิจัยเชิงข้อมูลภาคสนาม (Field Research) โดยการวิเคราะห์และสังเคราะห์เอกสาร แนวคิดทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยมีผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน ๑๒ ท่าน

 

ผลการวิจัยพบว่า ๑) แนวคิดทฤษฎีการพัฒนาพลเมืองตามบรรทัดฐานของสังคมไทย  การพัฒนาคุณภาพคน เป็นกลไกสำคัญในการสร้างคนให้มีความเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม มีทัศนคติและค่านิยมที่ดีต่อสังคม มีความสุขดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ มีปัญญาและ มีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ซึ่งความเป็นพลเมืองดีเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณสมบัติพื้นฐานสำคัญของบุคคลในฐานะที่ทุกคนล้วนเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย
โดยมีคุณสมบัติของความเป็นพลเมืองดีที่เหมาะสมกับสังคมศตวรรษที่ ๒๑ ประกอบด้วยคุณลักษณะ ได้แก่ (๑) มีการเคารพความแตกต่าง (๒) การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองตามวิถีทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
(๓) แก้ปัญหาแบบสันติวิธี (๔) การมีความคิดเชิงสร้างสรรค์ (๕) เคารพกฎหมาย (๖) มีความยุติธรรม (๗) มีความรับผิดชอบ (๘) มีจิตสาธารณะ (๙) มีความซื่อสัตย์สุจริต (๑๐) มีความสามารถในการสื่อสารรับรู้ข่าวสาร (๑๑) มีความสามารถในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (๑๒) มีสำนึกความเป็นไทย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคุณลักษณะของพลเมืองตื่นรู้
(Active Citizen) ที่มีความบริบูรณ์ทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ


 

แนวทางการพัฒนาพลเมืองของหมู่บ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง นั้นมีลักษณะระบอบการพัฒนาพลเมืองในหมู่บ้านที่มีบทบาทพลเมืองในชุมชนสามขาตามแนวคิดชุมชนนิยมซึ่งเน้นความสำคัญเรื่องสิทธิร่วมทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิทธิในทรัพยากรของชุมชน เป็นต้น 
การแสดงออกทางสิทธิเป็นแบบแนวราบ สมาชิกในหมู่บ้านสามขาทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกัน ภายใต้กฎระเบียบของหมู่บ้านที่ชัดเจนและครอบคลุม มองคุณค่าของทุกคนเท่าเทียม เสมอภาคกัน และปรารถนาให้ทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างสร้างสรรค์

๒) หลักพุทธธรรมที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาพลเมือง พบว่า หลักธรรมพละ ๕ อันเป็นธรรมเกื้อหนุนพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาตน และเป็นหลักธรรมที่เป็นกำลังเกื้อหนุนต่อการปฏิบัติร่วมกับหลักธรรมอื่น ส่วนมงคลสูตรเป็นเป้าหมายการพัฒนาพลเมือง อาทิ (๑) อัตตสัมมาปณิธิ คือ การใช้ชีวิตบนพื้นฐานของความพอดี จึงทำให้เป็นผู้ที่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำด้วยกิเลสอุปถัมภ์ (๒) วินโย จ สุสิกขิโต คือ ความเคารพในระเบียบวินัย หรือกติกาอันเป็นบรรทัดฐานทางสังคม (๓) อนากุลา จ กัมมันตา การรู้จักรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่พลเมือง (๔) อนวัชชานิ
กัมมานิ คือ  การทำงานไม่มีโทษ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขของสังคมส่วนรวม (๕) ญาตกานัญจ สังคโห คือ มีจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อสังคมส่วนร่วม

 

๓) แนวทางการพัฒนาพลเมืองเชิงพุทธบูรณาการของหมู่บ้านสามขาอำเภอแม่ทะ
จังหวัดลำปาง พบว่า หมู่บ้านสามขามีลักษณะระบอบการพัฒนาพลเมืองในหมู่บ้านที่มีบทบาทพลเมืองในหมู่บ้านสามขาตามแนวคิดชุมชนนิยม
(Communitarian) ซึ่งสมาชิกในหมู่บ้านสามขาทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ดำเนินชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างอิงอาศัย มีกฎระเบียบของหมู่บ้านที่ชัดเจนและครอบคลุม จากการทดลองนำมาปรับแก้จนได้กฎระเบียบที่เคร่งครัด เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ให้กับทุกคน เพื่อให้คนในหมู่บ้านอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ซึ่งครอบคลุมด้านต่างในหมู่บ้านทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านได้อย่างคุ้มค่า

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕