หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระธนวันต์ กิตฺติวณฺโณ (หวังนอก)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๔ ครั้ง
วิเคราะห์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในบริบทพุทธธรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อผู้วิจัย : พระธนวันต์ กิตฺติวณฺโณ (หวังนอก) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูศรีรัตนากร
  พระครูสิริปริยัตยานุศาสก์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๘ มกราคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

 วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดและความเป็นมาของโรงเรียนผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (๓) วิเคราะห์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในบริบทพุทธธรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ผลการวิจัยพบว่าคุณภาพชีวิตในศาสนาพุทธนั้นจะต้องมีการพัฒนาทั้ง ๔ ด้านได้แก่     (๑) การพัฒนากายคือพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุหรือทางกายภาพรวมทั้งเทคโนโลยี การพัฒนาอินทรีย์ ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กายด้วยการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณมิให้มีโทษ   (๒) การพัฒนาศีล คือ การฝึกฝนด้านความประพฤติ ระเบียบวินัย ความสุจริตทางกายและวาจามีพฤติกรรมที่ดีงามในความสัมพันธ์ทางสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกันสร้างสรรค์สังคม (๓) การพัฒนาจิตคือ การฝึกฝนด้านคุณภาพของจิตทำจิตใจให้สดใสเบิกบานร่าเริงมีน้ำใจ เมตตา กรุณา ศรัทธาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (๔) การพัฒนาด้านปัญญาได้ฝึกอบรมพัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยปัญญาโดยมีจิตใจเป็นอิสระสุขเกษมไร้ทุกข์

การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงขึ้น ซึ่งเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งแรกในเขตอำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ เป็นศูนย์ส่งเสริมอาชีพและการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับการพัฒนาด้านสุขภาพกายจิตใจและสังคม ได้ผ่อนคลายความตึงเครียด กิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุจะเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ช่วยเพิ่มพูนความรู้ทักษะชีวิตที่จำเป็น โดยวิทยากรจิตอาสาหรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุจะได้แสดงศักยภาพโดยการถ่ายทอดภูมิความรู้ประสบการณ์ที่สั่งสมแก่บุคคลอื่นเพื่อสืบสานภูมิปัญญาให้คงคุณค่าคู่กับชุมชน

การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามแนวพระพุทธศาสนาโดยยึดหลักภาวนา ๔ ใน ๔ ด้านดังนี้ (๑) ด้านร่างกาย พบว่า ทำให้ผู้สูงอายุเกิดการพัฒนาร่างกายด้วยรู้จักบำเพ็ญประโยชน์ รู้จักฝึกอบรมตนช่วยเหลือเกื้อกูลและกันมีความห่วงใยเอื้อเฟื้อมีเมตตากรุณาให้เกียรติซึ่งกันและกันรู้จักสำรวมระวังอินทรีย์ ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (๒) ด้านสังคม พบว่า ผู้สูงอายุทำให้ละเว้นระมัดระวังกายจากการเบียดเบียนผู้อื่นในทางที่เสื่อมเสียมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ร่วมกันด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันและนอกจากนั้นยังเสริมสร้างการมีระเบียบวินัยต่อตนและสังคม (๓) ด้านจิตใจ ทำให้ผู้สูงอายุมีจิตใจมีความหนักแน่นมั่นคงมีเหตุมีผลในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมีจิตเมตตามีความปรารถนาดีต่อกันด้วยความจริงใจและมีความสุข (๔) ด้านปัญญา มีการฝึกปฏิบัติตามแนวปัญญาภาวนาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสภาวะธรรมชาติอย่างแท้จริง มองโลกมองสังคมในแง่ดีมีจิตใจเป็นอิสระ รู้จักปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างด้วยสติปัญญา

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕