หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาทวีศักดิ์ เขมจาโร (ช่างสัก)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๗ ครั้ง
หลวงพ่อเพ็ชร์ : สื่อพุทธศิลป์ที่มีอิทธิพลต่อประชาชนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาทวีศักดิ์ เขมจาโร (ช่างสัก) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโสภณพัฒนานุยุต
  พระครูสุนทรธรรมนิทัศน์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “หลวงพ่อเพ็ชร์ : สื่อพุทธศิลป์ที่มีอิทธิพลต่อประชาชนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์” มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย ๓ ข้อ คือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา และความสำคัญของหลวงพ่อเพ็ชร์ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (๒) เพื่อศึกษาสื่อพุทธศิลป์ของหลวงพ่อเพ็ชร์ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลของหลวงพ่อเพ็ชร์ที่มีต่อประชาชนในอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ผลการวิจัยพบว่า

(๑) พระพุทธรูป “หลวงพ่อเพ็ชร์” เป็นพระพุทธปฏิมาหล่อขึ้น เนื้อทองสัมฤทธิ์    (สีนาค) ตลอดทั้งองค์ ทรงประทับพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิเพ็ชร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ในครั้งสมัยเชียงแสน หรือที่เรียกกันในวงการพระพุทธรูปว่า “พระพุทธรูปบางเชียงแสนสิงห์ ๑” ถูกค้นพบเมื่อปีมะเส็ง เบญจศกพระพุทธศักราช ๒๔๓๖ ร.ศ. ๑๑๒ โดยหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง และได้มอบถวายองค์พระพุทธรูปไว้ที่วัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน) ด้วยองค์พระพุทธรูปทรงประทับนั่งด้วยพระอิริยาบถในท่านั่งขัดสมาธิเพ็ชร์ จึงได้ตกลงใจถวายพระนามแก่พระพุทธรูปองค์นั้นว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์” เช่นเดียวกับชื่อของเจ้าอาวาสวัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน) ในสมัยนั้น และด้วยเหตุดังกล่าวมาพระพุทธรูปองค์นี้จึงได้รับพระนามที่เรียก และเป็นที่รู้จักกันไปทั่วว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์” สืบเนื่องติดต่อกันจนตราบกระทั่งทุกวันนี้

(๒) พุทธศิลป์เป็นงานด้านศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายทางพระพุทธศาสนาทางใดทางหนึ่ง ได้พยายามสร้างขึ้นด้วยแรงกาย และกำลังความคิด ก่อให้เกิดศิลปกรรมที่สร้างขึ้นรับใช้พระพุทธศาสนาโดยตรง พระพุทธรูปหลวงพ่อเพ็ชร์เป็นพระพุทธปฏิมากรรมที่หล่อขึ้นด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์ตลอดทั้งองค์ ทรงประทับพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิเพ็ชร์    มีพระพุทธลักษณะงดงามมากเป็นพิเศษพระพักตร์ของพระองค์ท่านฉาบด้วยความอิ่มเอิบ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓๒ นิ้วฟุตครึ่ง (๑ ศอกเศษ) ส่วนสูงจากฐานที่ประทับนั่งถึงสุดยอดพระเกศสูงประมาณ ๔๑ นิ้วฟุต พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารโดยเฉพาะเรียกกันว่า “วิหารหลวงพ่อเพ็ชร์”  อยู่ในวัดท่าถนน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นศิลปะผสมผสานกันถึง ๓ ชาติ คือ หลังคาเป็นเก๋งจีน แล้วก็มีราหูอมจันทร์ซึ่งเป็นศิลปะอินเดียติดอยู่ที่หน้าปัน และหลังวิหารจะมีเทพพนมซึ่งเป็นศิลปะไทยติดอยู่หน้าปัน ด้านหน้าของวิหารด้านนอก ภายในวาดรูปศิลปะผสมไทย – จีน

(๓) หลวงพ่อเพ็ชร์มีอิทธิพลต่อประชาชนในอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งในด้านความเลื่อมใส เพียงได้มาเห็นพุทธลักษณะของหลวงพ่อเพ็ชร์ที่มีความงดงาม สง่างาม พระพักตร์ที่อิ่มเอิบ ทำให้ผู้ที่เข้ามาสักการะบูชาเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ด้านคุณค่าทางจิตใจ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ เมื่อได้มีโอกาสไปกราบสักการะบูชาก็จะทำให้มีความสุข และรู้สึกปลอดภัยมีที่พึ่งทางใจ ด้านความคุ้มครอง เมื่อเวลาประกอบสัมมาอาชีพหรือเดินทางไกล ก็จะไปกราบไหว้ขอพรส่วนมากก็จะได้สมปรารถนา ค้าขายดี เดินทางด้วยความปลอดภัย ปราศจากภัยอันตรายต่างๆ ด้านอภินิหาร แสดงให้เห็นประจักษ์ชัดเจนหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้อุตรดิตถ์หรือเกิดภัยธรรมชาติ หลวงพ่อเพ็ชร์ก็แสดงอภินิหารช่วยเหลือให้สิ่งที่เป็นภัยร้ายแรงกลายมาเป็นเพียงภัยเล็กน้อย ด้านสมปรารถนา ประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าไปกราบไหว้ขอพรให้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การเงิน โชคลาภ และสุขภาพก็ได้สมปรารถนา

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕