หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาโยธิน โยธิโก (ปัดชาสี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
การจัดการขันธ์ 5 เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ในพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาโยธิน โยธิโก (ปัดชาสี) ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระโสภณพัฒนบัณฑิต
  พระครูสุธีคัมภีรญาณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 7 กุมภาพันธ์ 2562
 
บทคัดย่อ

 

ดุษฎีนิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ขันธ์ 5 ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (2) ศึกษาการจัดการและดูแลขันธ์ 5 กับชีวิตมนุษย์ในพระพุทธศาสนา (3) วิธีการจัดการขันธ์ 5 เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ในพระพุทธศาสนา เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (documentary research)  โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา หนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตำรา หนังสือ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัย พบว่า

 

ขันธ์ 5 ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ประกอบด้วยรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ คำนิยามและความหมายแห่งขันธ์ 5 แต่ละขันธ์มีรายละเอียดมาก ซึ่งสื่อให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะตัวแต่ละขันธ์เหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง แนวคิดเรื่องขันธ์ 5 มีก่อนสมัยพุทธกาลแต่เป็นอัตตา ต่างจากในพระพุทธศาสนาที่เป็นอนัตตา โดยพระพุทธเจ้ามีวิธีที่หลากหลายในการแสดงให้เห็นโทษแห่งขันธ์ 5 ทุกองค์ธรรมในพระพุทธศาสนาสามารถสงเคราะห์เข้ากับขันธ์ 5 และขันธ์ 5  แต่ละขันธ์นั้นก็มีปฏิบัติการร่วมกัน และเหตุปัจจัยที่ทำให้แต่ละขันธ์ปรากฏนั้นก็รวมอยู่ในขันธ์ 5 ไม่ได้เป็นสิ่งอื่นนอกจากขันธ์ 5 โดยมีส่วนหนึ่งแห่งสังขารขันธ์ที่เรียกว่าผัสสะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้นามขันธ์ปรากฏชัด พระพุทธเจ้าได้ใช้แนวคิดขันธ์ 5 นี้เป็นคำตอบโลกและชีวิตว่าไม่มีสิ่งอื่นนอกจากขันธ์ 5 แอบแฝงอยู่ในสรรพสิ่ง และขันธ์ 5 ก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ การศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องขันธ์ 5 ให้ชัดเจน

การจัดการขันธ์ 5 กับชีวิตมนุษย์ในพระพุทธศาสนา มีความสัมพันธ์กับหมวดธรรมที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งเป็นหลักการปฏิบัติทั้งในระดับโลกิยะและระดับโลกุตตระ ได้แก่ ไตรสิกขา 3                  สติปัฏฐาน 4 ธาตุ 4 อินทรีย์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 และมรรค 8 ธรรมในแต่ละหมวดนี้มีความสมบูรณ์ในตัว  ส่วนกระบวนการปฏิบัติการร่วมกันแห่งขันธ์ 5 ในชีวิตประจำวัน สามารถศึกษาได้จากสิ่งที่ปรากฏออกมาทางการปฏิบัติการแห่งรูปขันธ์ ในรูปแบบพฤติกรรมทางกาย และวาจา โดยใช้หลักไตรสิกขา 3 สติปัฏฐาน 4 มรรค 8 พัฒนากายและจิต ให้ครอบคลุมกระบวนการตามหลักภาวนา 4 คือ การพัฒนากาย การพัฒนาศีล การพัฒนาจิต และการพัฒนาปัญญาในพระพุทธศาสนา

การศึกษาวิธีการจัดการขันธ์ 5 เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ในพระพุทธศาสนา สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ในระดับโลกิยะ  คือ การสร้างจิตวิญญาณให้เป็นนักคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาความโลภมาก การควบคุมสัญชาตญาณทางเพศ การสร้างความรับผิดชอบต่อตนเอง การสร้างความมั่นใจในตนเอง การสร้างความตระหนักในตนเอง ระดับโลกุตตระ สามารถสร้างจิตและเจตสิกฝ่ายกุศลให้เกิดขึ้น พัฒนามนุษย์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นบรมสุข ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕