หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วิสารินท์ ชามพูนท
 
เข้าชม : ๑๖๘๗๑ ครั้ง
กระบวนการปรับเปลี่ยนชุดความคิดเชิงพุทธ
ชื่อผู้วิจัย : วิสารินท์ ชามพูนท ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติมุนี (เทียบ สิริญฺาโณ)
  นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่องกระบวนการปรับเปลี่ยนชุดความคิดเชิงพุทธ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อคือ
(๑) เพื่อศึกษาวิธีการพัฒนาความคิดตามหลักพระพุทธศาสนา และชุดความคิดของ แครอล เอส ดเวก
(๒) เพื่อพัฒนากระบวนการปรับเปลี่ยนชุดความคิดเชิงพุทธ สำหรับครูสอนโรงเรียนปฐมวัย
(๓) เพื่อศึกษาผลของกระบวนการปรับเปลี่ยนชุดความคิดเชิงพุทธ สำหรับครูสอนโรงเรียนปฐมวัย ด้วยการศึกษาข้อมูลจาก พระไตรปิฎก คัมภีร์พระพุทธศาสนา เอกสารวิจัยในทางพระพุทธศาสนา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

 

ผลศึกษาพบว่าพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญที่ปัจจัยภายในคือ การโยนิโสมนสิการ และปัจจัยภายนอกคือปรโตโฆสะ ร่วมสร้างให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนามุ่งเน้น และการพัฒนาชุดความคิดมีผลต่อความสำเร็จ การมีบุคลิกภาพ และความฉลาดเป็นสิ่งที่พัฒนาให้เติบโตได้ กระบวนการปรับเปลี่ยนชุดความคิดอิงหลักพระพุทธศาสนา และชุดความคิด (Mindset) คล้ายคลึงกันหลายประการ แต่ที่แตกต่างกันคือหลักพระพุทธ ศาสนา สามารถนำออกจากความทุกข์ได้ แต่แบบชุดความคิด ( Mindset ) ใช้เพื่อเปลี่ยนความคิดให้เป็นคนที่มีอนาคตดี ในอาชีพการงาน และสังคม

 

เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบ่งเป็น ๒ ขั้นตอนคือ พัฒนาโปรแกรมการปรับเปลี่ยนชุดความคิดอิงหลักพุทธ ผ่านความเห็นผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๑๐ คน และจัดกิจกรรมเพื่อประเมินผลในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นครูปฐมวัย จำนวน ๒๗ คน สุ่มแบบเจาะจงโรงเรียนเข้ากลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมจากโรงเรียนอื่น ๓๕ คน ดำเนินการระหว่างเดือน เมษายน - กันยายน ๒๕๕๙ เครื่องมือคือแบบประเมินชุดความคิด แบบประเมินโยนิโสมนสิการ แบบประเมินสติ และแบบประเมินความเครียด ประเมินผลก่อนทำกิจกรรม หลังกิจกรรม  ๖ และ ๑๒ สัปดาห์ วิเคราะห์ผลด้วยสถิติ Repeated measures analysis of variance


โปรแกรมปรับเปลี่ยนชุดความคิด จัดขึ้น ๒ วัน ประกอบด้วย ๑๒ กิจกรรม ครั้งละ ๖๐ นาที  กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิง ๕๘ คน (ร้อยละ๙๓.๕ ) อายุเฉลี่ย ๓๖-๓๙ ปี  เมื่อสิ้นสุดการทดลองคะแนนเฉลี่ยชุดความคิดยึดติด มีแนวโน้มลดลงทั้งสองกลุ่ม แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยของการคิดโยนิโสมนสิการเร้ากุศล ๒๑.๒(๒.๓) สูงกว่ากลุ่มควบคุม คะแนนสติ ๓๗.๓ (๕.๒) ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม และคะแนนความเครียด ๕.๘ (๒.๘) สูงกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ณ เวลา ๖ สัปดาห์ แต่ระยะติดตามผลคะแนนทั้งหมดไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่ม และคะแนนเฉลี่ยทุกกลุ่มกลับมาเท่ากับก่อนจัดกิจกรรมเมื่อวัดผลอีกครั้ง ณ เวลา ๑๒ สัปดาห์ ดังนั้นโปรแกรมการปรับเปลี่ยนชุดความคิดอิงหลักพุทธ อาจพัฒนาการตระหนักรู้ และความคิดเร้ากุศลในครูปฐมวัย ถ้ามีการฝึกฝนต่อเนื่อง

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕