หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สันทยา ประภารัตน์
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๐ ครั้ง
การพัฒนาองค์กรเชิงพุทธบูรณาการตามหลักอริยทรัพย์ 7 ประการ
ชื่อผู้วิจัย : สันทยา ประภารัตน์ ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติมุนี
  บุญเลิศ โอฐสู
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๒ / มีนาคม / ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การพัฒนาองค์กรเชิงพุทธบูรณาการตามหลักอริยทรัพย์ ๗ ประการ” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ดังนี้คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และกระบวนการการพัฒนาองค์กร ๒) เพื่อศึกษาหลักอริยทรัพย์ ๗ ประการ ๓) เพื่อบูรณาการการพัฒนาองค์กรด้วยหลักอริยทรัพย์ ๗ ประการ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้านเอกสารและภาคสนาม คือสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน ๑๔ รูป/คน

ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาองค์กร เป็นกระบวนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เน้นการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีศักยภาพ โดยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ พัฒนาทักษะในการปฏิบัติงาน ตลอดจนมีทัศนคติ และมีพฤติกรรมที่ดีต่อองค์กร มีลักษณะมุ่งเน้นการเพิ่มสมรรถนะ คือมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยใช้กรอบ Process Goals (เป้าหมายกระบวนการ)และ Outcome Goals (ผลลัพธ์รวม)

อริยทรัพย์ ๗ ประการ คือ คุณธรรมอันประเสริฐ ได้แก่ ๑) สัทธาธนะ ๒) สีลธนะ ๓) หิริ- ธนะ ๔) โอตตัปปธนะ ๕) สุตธนะ ๖) จาคธนะ ๗) ปัญญาธนะ เป็นทรัพย์ภายในที่สามารถติดตัวไปได้ทุกที่ ไม่มีสิ่งใดจะมาทำลาย และไม่มีผู้ใดจะแย่งชิงไปได้ ซึ่งดีกว่าทรัพย์ภายนอกอันได้แก่ ทรัพย์สิน เงินทอง เป็นต้น ที่อาจถูกทำลาย และสูญหายไปได้จากมนุษย์ด้วยกันเอง หรือจากภัยธรรมชาติก็เป็นได้ อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการ ถ้าผู้ใดมีไว้แล้ว ถือว่าเป็นผู้ไม่ขัดสน เป็นทรัพย์ที่ทำให้ไม่จน เป็นธรรมคุ้มครองโลก

การพัฒนาองค์กรโดยใช้หลักอริยทรัพย์ ๗ ประการมาพุทธบูรณาการใช้ในองค์กร มีดังนี้ ๑) การใช้หลักสัทธาธนะมาบูรณาการ เป็นการปลูกฝังบุคลากรให้มีความเชื่อมั่นในองค์กรและผู้บริหารองค์กร ทำให้เกิดความรักสามัคคี ร่วมกันรักษาวัฒนธรรมองค์กร ทำงานในหน้าที่ตนอย่างเต็มความสามารถ ๒) การใช้หลักสีลธนะมาบูรณาการ เป็นการปลูกฝังให้บุคลากรในองค์กรมีคุณธรรมจริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต เคารพกฎระเบียบขององค์กร เคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น ทำให้

เกิดความสงบเรียบร้อยในองค์กร ไม่เกิดการเบียดเบียนกัน ๓) การใช้หลักหิริธนะ และโอตตัปปะธนะมาบูรณาการ เป็นการปลูกจิตสำนึก รับผิดชอบชั่วดีของบุคลากรในองค์กร ให้เห็นความสำคัญของบทบาทหน้าที่ ไม่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ไม่กล้าทำความผิดทุจริต เพราะมีความละอาย และเกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับ ไม่กล้าทำความผิดทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ๕) การใช้หลักสุตะธนะมาบูรณาการ เป็นการเพิ่มพูนทักษะความรู้ให้กับบุคลากรในองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน โดยจัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ การฝึกอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงาน จึงเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ๖) การใช้หลักจาคะธนะมาบูรณาการ เป็นการปลูกฝังบุคลากรในองค์กรให้รักกัน มีมุทิตาจิตต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำใจต่อกัน ไม่เอาเปรียบกัน เป็นการสละกิเลสในใจตน ก็จะเกิดเป็นองค์กรแห่งความสุข (Happy Organization) ๗) การใช้หลักปัญญาธนะมาบูรณาการ เป็นหลักที่สำคัญมาก ต้องให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางวัตถุกับการพัฒนาทางจิตใจ ผู้บริหารองค์กรควรเป็นผู้มีความรอบคอบ รอบรู้ มีวิสัยทัศน์ วางแผนการดำเนินงาน หาข้อมูลข่าวสารรอบด้าน มีการประเมินผลทุกครั้ง พัฒนาองค์ความรู้แก่บุคลากรในองค์กร เป็นแบบอย่างที่ดี และสามารถแก้ปัญหาต่างๆให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็จะทำให้บรรลุเป้าหมาย และนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕