หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ชูชีพ โพชะจา
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๗ ครั้ง
รูปแบบการเจริญสติเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ชื่อผู้วิจัย : ชูชีพ โพชะจา ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ธีรยุทธ วิสุทธิ
  เทพประวิณ จันทร์แรง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๓ เมษายน ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑. ศึกษาพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ๒. สร้างรูปแบบการเจริญสติเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ๓. เปรียบเทียบพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับรูปแบบการเจริญสติกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับรูปแบบการพยาบาลตามปกติ ๔. ศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อรูปแบบการเจริญสติ การวิจัยในครั้งนี้ ใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research & Development : R&D) ตามระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสานวิธี  (Mixed  Methodology) ใน ๔ ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ ๑ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อศึกษาปัญหาของผู้ป่วยโรคเบาหวาน กลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ ที่มารักษาที่คลินิกโรคเบาหวาน โรงพยาบาลลี้ ในปี ๒๕๖๐ จำนวน ๒๙๗  คน ขั้นตอนที่ ๒ สร้างรูปแบบการเจริญสติเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ขั้นตอนที่ ๓ ทดลองใช้รูปแบบการเจริญสติเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยใช้แบบแผนการทดลองจริง (True - Experimental Design) กลุ่มตัวอย่างแบบ ๒ กลุ่ม วัดก่อน-หลัง (The Randomized Pretest – Posttest control group design) เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มเจาะจง จำนวน  ๖๐ คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน ๓๐ คน และกลุ่มควบคุม จำนวน ๓๐ คน เครื่องมือที่ใช้ มี ๔ ชนิด คือ ๑) รูปแบบการเจริญสติเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ๒) รูปแบบการพยาบาลตามปกติ ๓) แบบประเมินพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ๔) แบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจของผู้ป่วยเบาหวานต่อรูปแบบการเจริญสติ ขั้นตอนที่ ๔ ปรับปรุงรูปแบบการเจริญสติจากผลการทดลองใช้

ผลการวิจัยพบว่า      

๑. ด้านพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ
๑) พฤติกรรมการควบคุมอาหาร ระดับปานกลาง  ๒) พฤติกรรมการออกกำลังกาย  ระดับน้อยมาก ๓) พฤติกรรมการใช้ยา ระดับมากที่สุด และ ๔) พฤติกรรมการดูแลสุขภาพทั่วไป ระดับน้อย

 

๒. ด้านการสร้างรูปแบบการการเจริญสติเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มี ๖ องค์ประกอบ คือ  ๑. หลักการ : ยึดผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นสำคัญ กิจกรรมเป็นไปเพื่อส่งเสริมความรู้ความสามารถในการมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง ๒. เป้าหมายและวัตถุประสงค์ : เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ๓. เนื้อหา : การเจริญสติ ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม  ๔. วิธีการจัดกิจกรรม : จัดตามแนวคิดของการรับรูความสามารถตนเอง (Self-Efficacy) การใช้ตัวแบบ (Modeling) การใช้คำพูดชักจูง (Verbal Persuasion) ความคาดหวังในผลลัพธ์ของการปฏิบัติ (Outcome Expectation) และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพด้วยหลัก PROMISE Model ๕. สื่อและแหล่งการเรียนรู้ :โปสเตอร์ วีซีดี ส่วนแหล่งเรียนรู้คือ ที่โรงพยาบาล  ๖. การวัดและการประเมินผล : ใช้หลักการประเมินด้วยตนเอง (Self Evaluation) และการประเมินโดยผู้นำกิจกรรม และรูปแบบมีประสิทธิภาพ E1/E2=๘๓.๙๒/๘๕.๘๗

๓.  ด้านเปรียบเทียบพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานหลังได้รับรูปแบบการเจริญสติมีคะแนนพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับรูปแบบการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ ซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐาน

๔.  ด้านความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีต่อรูปแบบการเจริญสติของกลุ่มทดลองพบว่า มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเจริญสติ อยู่ในระดับมากที่สุด (=๔.๘๗ ) และเมื่อแยกเป็นรายด้าน พบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเจริญสติอยู่ในระดับมากที่สุดในทุกด้าน โดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านการจัดกิจกรรมในการปฏิบัติ (=๔.๙๒ ) ด้านบรรยากาศในการเรียน (=๔.๙๐ )  ด้านระยะเวลาการปฏิบัติการเจริญสติ (=๔.๙๐) และด้านการประเมินผลในการเรียน (=๔.๗๘)

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕