หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » กิตติศักดิ์ ลาภสุริยกุล
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
ความสำคัญของคัมภีร์อรรถกถาเถรวาทต่อการศึกษาพระไตรปิฎก
ชื่อผู้วิจัย : กิตติศักดิ์ ลาภสุริยกุล ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ)
  บรรจบ บรรณรุจิ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “ความสำคัญของคัมภีร์อรรถกถาเถรวาทต่อการศึกษาพระไตรปิฎก”
มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์กำเนิดและพัฒนาการของคัมภีร์อรรถกถาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักการและวิธีการอธิบายพระพุทธพจน์ของคัมภีร์อรรถกถาเถรวาท และ
๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความสำคัญของคัมภีร์อรรถกถาเถรวาทต่อการศึกษาพระไตรปิฎก

ผลการวิจัยพบว่า อรรถกถาถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ยุคพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรรถกถาจารย์พระองค์แรก เพราะทรงเป็นพระศาสดาผู้ประกาศพระศาสนาของพระองค์และทรงอธิบายพระธรรมวินัยด้วยพระองค์เอง อรรถกถาที่ทรงแสดงด้วยพระองค์เองนี้เรียกว่า ปกิณกเทศนา เป็นคำอธิบายขยายความข้อปฏิบัติ หลักธรรม และเรื่องราวประกอบเนื้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งในครั้งปฐมสังคายนา พระสังคีติกาจารย์ผู้ร้อยกรองพระธรรมวินัยไม่ได้สงเคราะห์ปกิณกเทศนานี้เข้าในพระไตรปิฎก เพราะถือว่าเป็นคำอธิบายปลีกย่อย แต่ท่านได้สังคายนาปกิณกเทศนานี้ต่างหาก
โดยเรียกว่า มหาอรรถกถา โดยผนวกสาวกภาษิตเข้าไว้ด้วย เพื่อให้มหาอรรถกถาเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกอย่างบริบูรณ์ เพียบพร้อมด้วยพุทธภาษิตและสาวกภาษิต ต่อมาในยุคอภินวอรรถกถา
พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายมีพระพุทธโฆสาจารย์เป็นต้นได้ปริวรรตและเรียบเรียง
คัมภีร์อรรถกถาภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ โดยใช้โบราณอรรถกถามีมหาอรรถกถาเป็นต้น เรียกชื่อว่า อภินวอรรถกถา
ซึ่งใช้ศึกษากันมาจนถึงปัจจุบัน โดยภาพรวม อรรถกถามีพัฒนาการเริ่มจากการทรงจำ
ด้วยมุขปาฐะ
สู่การจารลงในใบลาน พิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือ จนกระทั่งบันทึกเป็นไฟล์อิเล็คทรอนิกส์ในปัจจุบัน

อรรถกถาจำแนกได้ ๔ ประเภท คือ ๑) พุทธสังวัณณิตอรรถกถา อรรถกถาที่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายด้วยพระองค์เอง ๒) อนุพุทธสังวัณณิตอรรถกถา อรรถกถาที่พระอนุพุทธสาวกอธิบายไว้
๓) โบราณอรรถกถา
คือพุทธสังวัณณิตอรรถกถาและอนุพุทธสังวัณณิตที่พระมหินทเถระนำไปสู่
ลังกา และต่อมาพระเถระชาวสิงหลได้แปลเป็นภาษาสิงหล ๔) อภินวอรรถกถา หรืออรรถกถาใหม่
ที่พระอรรถกถาจารย์มีพระพุทธโฆสาจารย์เป็นต้นปริวรรตและเรียบเรียงจากโบราณอรรถกถาภาษา
สิงหลกลับเป็นภาษามคธ

จากการศึกษาวิเคราะห์หลักการและวิธีการอธิบายพระพุทธพจน์ของอรรถกถาในด้านพยัญชนะ อรรถะและปกิณกะ และการใช้อรรถกถาศึกษาพระไตรปิฎกในด้านต่างๆ ได้แก่ การแปลหรืออธิบายความพระพุทธพจน์ การอธิบายข้อปฏิบัติและหลักธรรม การจัดหมวดหมู่คำสอนของพระพุทธเจ้า และการสืบค้นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอันเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆ พบว่า อรรถกถามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาพระไตรปิฎก เพราะเป็นคัมภีร์ที่ช่วยอธิบายรูปศัพทและความหมาย ขยายความหลักธรรมวินัย และเลาเรื่องราวประกอบ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความในพระไตรปิฎกได้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕