หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ณัฐนันทพล โปรเทียรณ์
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๒ ครั้ง
รูปแบบการบริหารจัดการตามหลักสัปปุริสธรรม 7 โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง(สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : ณัฐนันทพล โปรเทียรณ์ ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  วรกฤต เถื่อนช้าง
  พระมหาอุดร อุตฺตโร (มากดี)
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่องรูปแบบการบริหารจัดการตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่างมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ๑) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารจัดการ โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง๒) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารจัดการตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง และ ๓) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารจัดการตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ ๑ ศึกษาสภาพการบริหารจัดการ โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่างโดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการสัมภาษณ์คือผู้บริหารโรงเรียนสอนดนตรีจำนวน ๘ คน ใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และวิเคราะห์เนื้อหา  ขั้นตอนที่ ๒ สร้างรูปแบบการบริหารจัดการตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง โดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๘ คน ด้วยการจัดสนทนากลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม และวิเคราะห์เนื้อหา  ขั้นตอนที่ ๓  การประเมินรูปแบบการบริหารจัดการตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ผู้บริหารโรงเรียนสอนดนตรี จำนวน ๑๐ คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบประเมินที่ถามความเหมาะสม ๔ ด้าน คือ ความถูกต้อง ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนา หาค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยพบว่า

๑) สภาพการบริหารจัดการ โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่างมีการบริหารจัดการ ๔ ด้าน ได้แก่๑) ด้านงานวิชาการ มีการพัฒนาหลักสูตร วัดผลประเมินผล  ๒) ด้านงานงบประมาณ มีการจัดหารายได้ บริการจัดการเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ๓) ด้านงานบุคคล วางระเบียบให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน สร้างขวัญกำลังใจให้เกิดความมั่นคงในวิชาชีพ และ ๔) ด้านงานทั่วไป มีการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี เน้นผลสัมฤทธิ์ของงาน

๒) รูปแบบการบริหารจัดการตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ ๑) งานวิชาการ ตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ต้องจัดทำแผนการบริหารงานวิชาการให้ครอบคลุมสอดคล้องกับเนื้อหาสาระดนตรี เพื่อวัดประเมินผลงานวิชาการ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนระบบบริหารงานวิชาการดนตรี จัดหลักสูตรโรงเรียนสอนดนตรีให้ตรงกับกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรี มุ่งเน้นทักษะการปฏิบัติดนตรี บริหารงานวิชาการโรงเรียนสอนดนตรีตามแบบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ๒) งานงบประมาณ ตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ต้องจัดทำงบประมาณล่วงหน้าของโรงเรียนสอนดนตรี ก่อนและหลังอย่างเป็นระบบ ให้มีกระบวนการวางแผนบริหารงานงบประมาณอย่างเหมาะสม จัดลำดับตามความจำเป็น บริหารงบประมาณให้ทั่วถึงครอบคลุมเป้าหมาย บันทึกรายรับ-รายจ่ายเพื่อการพัฒนา ทำทะเบียนพัสดุ การตรวจสอบบัญชีอย่างละเอียด ตั้งงบประมาณซื้อครุภัณฑ์ดนตรีเครื่องดนตรีที่ทันสมัยมีคุณภาพและงบประมาณในการซ่อมบำรุงเครื่องดนตรี ๓) งานบุคคล ตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ต้องส่งเสริมให้บุคลากรครูดนตรีเข้ารับการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการสอนดนตรี ตั้งเกณฑ์มาตรฐานในการปฏิบัติงานแต่ละตำแหน่ง เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและให้การต้อนรับ ดูแลผู้ปกครองและนักเรียนของโรงเรียน สร้างบรรยากาศ ให้เกิดความอบอุ่นสบายและเป็นกันเอง ครูกับผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การปฏิบัติผูกความสัมพันธ์ของครูผู้สอนเกิดผลทำให้ผู้เรียนเกิดความรักอยากมาเรียนดนตรี และ ๔) งานทั่วไป ตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ต้องให้ความรู้ความเข้าใจในงานกิจกรรมของโรงเรียนสอนดนตรี จัดทำแผนงานการโฆษณาประชาสัมพันธ์ประจำปี จัดบรรยากาศภายใน-ภายนอกให้สวยงามน่าเรียน ให้ความสำคัญห้องรับรองห้องน้ำห้องลงทะเบียนห้องเรียนห้องพักผ่อน
ให้สะอาดและเป็นระเบียบ จัดระบบมาตรฐานการทำงานของครูดนตรีในแต่ละเครื่องมือบุคลากรต้องรู้เรื่องในงานทุกหน้าที่ของโรงเรียน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับงาน มีการประเมิน ของแต่ละวัน

๓) ผลการประเมินรูปแบบการบริหารจัดการตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ โรงเรียนสอนดนตรี กลุ่มภาคเหนือตอนล่างพบว่า ๑) การบริหารจัดการงานวิชาการตามหลักสัปปุริสธรรม ๗มีความถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปได้ และเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมาก ๒) การบริหารจัดการงานงบประมาณ
มีความถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปได้ และเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมาก ๓) การบริหารจัดการงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗มีความถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปได้ และเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมากและ ๔) การบริหารจัดการงานทั่วไปตามหลักสัปปุริสธรรม ๗มีความถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปได้ และเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมาก

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕