หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พวงชมนาถ จริยะจินดา
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๘ ครั้ง
รูปแบบสมการโครงสร้างการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวตามหลักพุทธจิตวิทยา (สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : พวงชมนาถ จริยะจินดา ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  พุทธชาติ แผนสมบุญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๔ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวตามหลักพุทธจิตวิทยา ๒) เพื่อพัฒนากรอบสมการโครงสร้างการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวตามหลักพุทธจิตวิทยา ๓) เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของรูปแบบสมการโครงสร้างการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวตามหลักพุทธจิตวิทยากับข้อมูลเชิงประจักษ์ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมวิธีโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อขยายผลวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยใช้การศึกษาเอกสารและการศึกษาภาคสนามโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ ผู้ดูแลโดยครอบครัว เครือข่าย และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพุทธศาสนา รวมทั้งสิ้น ๒๐ รูป/คน ได้จากการเลือกแบบเจาะจง แล้วนำผลจากวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพไปตรวจสอบยืนยันด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้การสุ่มอย่างง่าย ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๒๒๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แนวคำถามในการสัมภาษณ์เชิงลึกและแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณแบบสถิติบรรยายและวิเคราะห์สหสัมพันธ์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป วิเคราะห์เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลกับข้อมูลเชิงประจักษ์และวิเคราะห์ขนาดอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมด้วยโปรแกรมลิสเรล

ผลการวิจัยมีดังนี้

๑. รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวตามหลักพุทธจิตวิทยา จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มี ๖ ขั้นตอน คือ ๑) การเผชิญปัญหา ๒) การประเมินความต้องการของผู้สูงอายุ ๓) การสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย ๔) การดูแลผู้สูงอายุตามหลักภาวนา ๔  ๕) การพัฒนาตนเองของผู้ดูแล ๖) การประเมินตนเองของผู้ดูแล เมื่อนำผลการวิเคราะห์เนื้อหาจากวิธีการเชิงคุณภาพมาบูรณาการด้วย พบว่า แนวทางการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวตามหลักพุทธจิตวิทยาประกอบด้วยขั้นตอนการปฏิบัติ ๖ ขั้นตอน ได้แก่ การเผชิญปัญหา ค้นคว้าความต้องการ – ประสานเครือข่ายช่วย – ดูแลด้วยหลักภาวนา ๔ – มีการพัฒนาตน – มุ่งประเมินผลตนเอง

๒. กรอบสมการโครงสร้างการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวตามหลักพุทธจิตวิทยาที่มี     ตัวแปรส่งผ่าน สรุปได้เป็นโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุซึ่งแสดงอิทธิพลขององค์ประกอบคุณสมบัติของผู้ดูแลและองค์ประกอบปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่ายต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีตัวแปรการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวตามหลักพุทธจิตวิทยาเป็นตัวแปรส่งผ่าน ตัวแปรในโมเดลที่พัฒนาขึ้นนี้ ประกอบด้วย ตัวแปรแฝง ๔ ตัวแปร แบ่งเป็นตัวแปรภายในแฝง ๒ ตัวแปร ตัวแปรภายนอกแฝง ๒ ตัวแปร และตัวแปรสังเกตได้ ๑๘ ตัวแปร

๓. โมเดลรูปแบบสมการโครงสร้างการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวตามหลักพุทธจิตวิทยา พบว่า มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ผลการตรวจสอบความตรงของโมเดลที่พัฒนาขึ้น สรุปได้ว่า χ2= 111.32, df = 104, p = .29, GFI = .95, AGFI = .91, RMSEA = .02  องค์ประกอบคุณสมบัติของผู้ดูแล และปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่าย สามารถอธิบายความแปรปรวนการดูแลผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา ได้ร้อยละ ๘๒.๐๐ และองค์ประกอบคุณสมบัติของผู้ดูแล  ปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่าย  และการดูแลผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา  สามารถอธิบายความแปรปรวนของคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ได้ร้อยละ ๖๒.๐๐ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้รับอิทธิพลทางตรงจากปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่ายเท่ากับ ๐.๓๕  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ และได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากองค์ประกอบคุณสมบัติของผู้ดูแล โดยผ่านการดูแลผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา เท่ากับ ๐.๗๐ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ โดยสรุป ผู้สูงอายุจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เป็นผลจากคุณสมบัติของผู้ดูแลที่มีหลักอิทธิบาท ๔ โดยส่งผ่านการดูแลผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา

 

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕