หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นิยม เวชกามา
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๒ ครั้ง
รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวสกลนครตามแนวพุทธจิตวิทยา (สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : นิยม เวชกามา ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๑)  เพื่อวิเคราะห์หลักพุทธธรรมและหลักจิตวิทยาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวสกลนคร ๒) เพื่อสังเคราะห์หลักพุทธธรรมและหลักจิตวิทยาเกี่ยวกับแนวทางการสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวสกลนคร ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวสกลนครตามหลักพุทธจิตวิทยา การวิจัยนี้เป็นแบบผสมวิธี ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๗ ท่าน และการสนทนากลุ่ม ส่วนการรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๓๙๘ คน ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ Random Sampling Method การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาและนําเสนอข้อมูลด้วยวิธีการพรรณนา การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติ ประกอบด้วย ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean:) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation: S.D.)

ผลการวิจัยมีดังนี้

๑. จากการวิเคราะห์หลักพุทธธรรมและจิตวิทยาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวสกลนคร พบว่า ๑) ด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยตรง ประชาชนทำหน้าที่เป็นสภาใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการด้วยตนเอง โดยมีความคิด พูด และทำด้วยเมตตาต่อกัน กระจายผลประโยชน์ ปฏิบัติตามระเบียบวินัยและกฎหมาย รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและเคารพความคิดที่แตกต่าง ๒) ด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยอ้อม ประชาชนเลือกผู้แทนไปใช้อำนาจนิติบัญญัติ และบริหารแทนตนผ่านการเลือกตั้งด้วยความรู้รักสามัคคี ปรารถนาดีและหวังประโยชน์สุขร่วมกัน ๓) ด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองและการบริหารในเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและวิถีชีวิตของตนในรูปของภาคพลเมืองหรือผ่านตัวแทนตามหลักสาราณียธรรม และ ๔) ด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบถกแถลง เป็นกระบวนการสำคัญของประชาธิปไตยภาคพลเมืองในรูปของประชาธิปไตยชุมชน เป็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากข้อบกพร่องของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เป็นรูปแบบสถาบันที่ตายตัว ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีความซับซ้อน และมีความแตกต่างหลากหลายให้มีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันด้วยไมตรีจิต

๒. จากการสังเคราะห์หลักพุทธธรรมและจิตวิทยาเกี่ยวกับแนวทางการสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวสกลนคร พบว่า แนวทางการสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวจังหวัดสกลนครตามแนวพุทธจิตวิทยาด้านการมีส่วนร่วมโดยตรง ด้านการมีส่วนร่วมโดยอ้อม ด้านการมีส่วนร่วมแบบแบการมีส่วนร่วม และด้านการมีส่วนร่วมแบบถกแถลงตั้งอยู่บนหลักเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม คิดด้วยความปรารถนาดีต่อกัน กระจายผลประโยชน์หรือทรัพยากรทั่วถึงกัน  เคารพระเบียบวินัย กฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และเคารพความคิดของผู้อื่นและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยเมตตา

๓. จากการวิเคราะห์รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวสกลนครตามแนวพุทธจิตวิทยา พบว่า           

    ๑) รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวสกลนครโดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย ๒.๖๑ เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด คือ ด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยอ้อม ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๒.๖๘ รองลงมาคือด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๒.๖๒  ด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๒.๕๙ และน้อยที่สุด คือ ด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบถกแถลง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๒.๕๗

    ๒) รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวสกลนครพิจารณาตามลำดับความต้องการโดยรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๑๑ เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ลำดับความต้องการในการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุด คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองเพราะมีความต้องการความมั่นคงในการทำงานและการมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงในชุมชน ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๓๔ รองลงมา คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองเพราะมีความต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากคนในหมู่บ้านค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๒๔ น้อยที่สุด คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองเพราะมีความต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้มีความรู้เกี่ยวกับการเมืองให้ดีที่สุดค่าเฉลี่ย เท่ากับ ๓.๙๙

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕