หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหากัมปนาท กมฺมสุทฺโธ (แสงจันทร์)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๓ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์คุณค่าของป่าตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหากัมปนาท กมฺมสุทฺโธ (แสงจันทร์) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโฆสิตวัฒนานุกูล
  พระครูโกศลอรรถกิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๙ มกราคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาเรื่องป่าที่ปรากฏในศาสตร์ต่างๆ  ๒) เพื่อศึกษาเรื่องคุณค่าของป่าในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์คุณค่าของป่าตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท ดำเนินการวิจัยโดยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการศึกษาเอกสาร (Documentary Research) จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำเนื้อหามาวิเคราะห์ตามขอบเขตของการวิจัยที่ได้กำหนดไว้

ผลการวิจัยพบว่า

๑) ป่าที่ปรากฏในศาสตร์ต่างๆ พบว่า ได้จำแนกลักษณะ และความหมายของป่าไว้อย่างชัดเจน มี (๑) ป่าในความหมายของสังคมศาสตร์ ได้แบ่งเป็นป่าในเมือง ป่าชุมชน ซึ่งเป็นป่าที่อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์เป็นสำคัญ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน เพื่อให้ป่าได้รักษาความสมดุลของธรรมชาติเอาไว้ ทั้งดิน น้ำ และอากาศ (๒) ป่าในความหมายของนิติศาสตร์ เป็นประเภทป่าที่มีกฎหมายคุ้มครอง อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ มีบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดต่อป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (๓) ป่าในความหมายของเต๋า ความเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง ชีวิตคือป่า ป่าก็คือชีวิต (๔) ป่าในความหมายของพุทธศาสนา ที่ได้จำแนกทั้งป่าภายนอกและป่าภายใน แม้ในแต่ละศาสตร์จะให้ความหมายหรือลักษณะที่แตกต่างกันบ้าง แต่ยังมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ป่ามีประโยชน์โดยตรง เป็นแหล่งผลิตปัจจัย ๔ ให้แก่สิ่งมีชีวิต และประโยชน์โดยอ้อม สิ่งที่พลอยเกิดขึ้นเมื่อมีป่าที่สมบูรณ์  

๒) การศึกษาคุณค่าของป่าในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า ป่ามีคุณค่าทางกายภาพ เป็นการให้ปัจจัย ๔ แก่มนุษย์ คุณค่าทางสังคม เป็นกัลยาณมิตรของผู้ใคร่ในธรรม คุณค่าทางอารมณ์ เป็นสถานที่ทำจิตให้เกิดความวิเวก และคุณค่าทางปัญญา เป็นแหล่งเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

             ๓) วิเคราะห์คุณค่าของป่าตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า พระพุทธศาสนาได้มองป่าในหลายแง่มุม ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างมีความสงบสุข มองเห็นธรรมชาติเป็นเรื่องรื่นรมย์ น่าชื่นชมความงาม มีความสุขกับธรรมชาติ มองธรรมชาติเป็นสภาพแวดล้อมที่มีคุณค่าเกื้อกูลต่อการพัฒนาของมนุษย์ และจะทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลิกเปลี่ยนจากความเป็นปฏิปักษ์ที่จะพิชิต  ข่มเหง รังแก เอาเปรียบธรรมชาติมาสู่ความเป็นมิตร ความเกื้อกูลและอยู่ร่วมกันด้วยดี

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕