หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการคำผง ขนฺติโก (พรมชาติ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
ศึกษาประเพณีแซนผีปู่ตาของชาวบ้านโสน ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการคำผง ขนฺติโก (พรมชาติ) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระอธิการเวียง กิตฺติวณฺโณ
  ธนรัฐ สะอาดเอี่ยม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรมการแซนผีปู่ตา
เพื่อศึกษาประเพณีแซนผีปู่ตาของชาวบ้านโสน ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ และเพื่อศึกษาคุณค่าและอิทธิพลของประเพณีแซนผีปู่ตาที่มีต่อชาวบ้านโสน ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ วิทยานิพนธ์นี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีดำเนินการวิจัยได้ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก ตำรา เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ปรากฏในแหล่งข้อมูลต่างๆ ตลอดถึงได้ลงสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่มีการประกอบพิธีแซนผีปู่ตา และได้เข้าสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมตลอดถึงได้ทำการสัมภาษณ์ พ่อจ้ำผู้ประกอบพิธีกรรม ผู้ร่วมในพิธีกรรม ที่มีการจัดขึ้นในชุมชน ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก

ผลวิจัยพบว่าความเชื่อเกิดจากปัญหาในการดำเนินชีวิตของมนุษย์โดยเข้าใจว่ามีอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติบันดาลให้เป็นไป จึงมีการทำให้อำนาจเหนือธรรมชาตินั้นพอใจ เมื่อปัญหาคลี่คลาย จึงแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการเซ่นสรวงบูชา หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ความเชื่อถืออย่างนี้เรียกว่า “คติผีสางเทวดา” ซึ่งเป็นคติศาสนาดั้งเดิมก่อนวิวัฒนาการมาเป็นคติศาสนาดังเช่นปัจจุบัน

สมัยก่อนพุทธกาลประชาชนที่อยู่ในดินแดนไทยปัจจุบันมีความเชื่อตามคติถือผีสางเทวดาหรือวิญญาณ นิยมว่าวิญญาณมีอยู่จริง มีการทำพิธีบวงสรวงเพื่อขอความอารักขาในกิจการที่ตนทำ ดังนั้นระบบความเชื่อจึงมีอยู่และสอดแทรกในวิถีชีวิตโดยผสมผสานเข้ากับหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

พิธีกรรมแซนผีปู่ตาของชาวอีสานถือเป็นธรรมเนียมที่ทุกชุมชนต้องปฏิบัติโดยจะกำหนดเขตพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่พำนักของผีปู่ตาโดยเลือกพื้นที่ที่มีสภาพป่าหนาทึบร่มครึ้มมีสัตว์ป่าชุกชุมและมีพรรณไม้หลากหลายที่เป็นเนินโคกหรือดอนน้ำท่วมไม่ถึงโดยสร้างโรงเรือนเล็กๆ หรือศาล(ตูบ) ให้อยู่มีความสำคัญเพื่อให้ผีหรือวิญญาณได้อยู่อาศัยเป็นที่เคารพบูชา เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม ทำให้จิตใจดี เพื่อการเสี่ยงทาย ผลพลอยได้คือเกิดความสนุกสนานรื่นเริง ในขณะบวงสรวงคือมีการฟ้อนรำ สนุกสนาน เกิดความสามัคคีในชุมชนมีองค์ประกอบคือ ตูบผีปู่ตา ผู้เซ่นผีปู่ตาหรือพ่อจ้ำ ผู้เซ่นเครื่องเซ่น นิยมจัดขึ้นในวัน ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี

หมู่บ้านโสน เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลโสน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชาวลาวอพยพมาตั้งถิ่นฐาน การอพยพมาได้นำพาศาสนา ความเชื่อ และประเพณีมาด้วย ในพิธีกรรมการแซนผีปู่ตาได้ผสมผสานทั้งสามสิ่งนี้เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน และชาวบ้านได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันพิธีกรรมจัดขึ้นที่ศาลปู่ตา มุ่งหมายเพื่อเป็นที่เคารพสักการ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจในการดำเนินชีวิต เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหารเพื่อความความเป็นระเบียบ ความสามัคคี ความมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามจัดขึ้นในเดือน ๓ และเดือน ๖ ของทุกปี

ประเพณีแซนผีปู่ตาของชาวบ้านโสน ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีคุณค่าและอิทธิพลต่อชาวบ้านโสน เชื่อว่าข้าวปลาอาหารจะอุดมสมบูรณ์เป็นที่เคารพสักการ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจในการประกอบสัมมาอาชีพ ในการดำเนินชีวิตมีความหวงแหนทรัพยากรและถิ่นฐาน เกิดความเป็นระเบียบ ความสามัคคี ความมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และรักษาไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕