หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ภราดี บุตรศักดิ์ศรี
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๐ ครั้ง
การสร้างแบบประเมินความก้าวหน้าการละสังโยชน์ ของผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ชื่อผู้วิจัย : ภราดี บุตรศักดิ์ศรี ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาอดิเดช สติวโร
  บุญเลิศ โอฐสู
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การสร้างแบบประเมินความก้าวหน้าการละสังโยชน์ของผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานมีวัตถุประสงค์ เพื่อ ๑) ศึกษาสังโยชน์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) ศึกษาการเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ เพื่อการละสังโยชน์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อสร้างแบบประเมินความก้าวหน้าการละสังโยชน์ของผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ คือการศึกษาการละสังโยชน์และการเจริญวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน ๔ จากพระไตรปิฎก อรรถกถา และคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และใช้การสัมภาษณ์พระวิปัสสนาจารย์ที่สอนการเจริญวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน ๔ แบบใช้คำบริกรรมพองหนอยุบหนอเพื่อนำมาพัฒนาแบบประเมินการละสังโยชน์ ผลการวิจัย พบว่า ๑) สังโยชน์ เป็นกิเลสที่ผูกสัตว์จมอยู่ใน    วัฏฏทุกข์ เพราะการยึดติด ยึดมั่น ถือมั่น ในอัตตา ทำให้ไม่เห็นทุกข์และการดับทุกข์อย่างแท้จริง    ๒) การเจริญวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน ๔ ถือเป็นวิธีการปฏิบัติตามแนวทางสายกลาง(มัชฌิมาปฏิปทา) เพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน โดยการทำให้ผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะครบบริบูรณ์นำไปสู่ปัญญาความรู้แจ้ง (ญาณ) จึงเห็นขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง (สัมมาทัสสนะ) ตามหลักไตรลักษณ์ คือเห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างไรก็ดี การละสังโยชน์ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องรู้ได้เฉพาะตนของผู้ปฏิบัติ และผู้จะประเมินผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีระดับคุณธรรมในระดับเดียวกันหรือที่สูงกว่าผู้ถูกประเมิน ๓) การเสนอแบบประเมินความก้าวหน้าในการละสังโยชน์ของผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน แบบประเมินนี้ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการสอบอารมณ์ แต่เป็นการประเมินเชิงเอกสารเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบการปฏิบัติของตนเอง ไม่ใช่แบบประเมินตามลำดับวิปัสสนาญาณ ๑๖ กล่าวคือไม่ได้ระบุว่าผู้ปฏิบัติที่ประเมินได้บรรลุญาณหรือไม่         แบบประเมินนี้แบ่งเป็น ๓ ด้าน คือ ๓.๑) ประเมินความก้าวหน้าในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ รูปแบบคำบริกรรมพองหนอยุบหนอ ส่วนนี้พัฒนามาจากการสอบอารมณ์ตามคู่มือและแนวทางของวิปัสสนาจารย์  ๓.๒) ประเมินความเพียรของผู้ปฏิบัติตามหลักสัมมัปธาน ๔  และ ๓.๓) ประเมินพฤติกรรมในการลดละอัตตา (สักกายทิฏฐิ) ลดละความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย วิธีการและผลการปฏิบัติธรรม (วิจิกิจฉา)  และลดละการเห็นผิดที่ไม่เป็นไปตามอริยมรรคมีองค์ ๘ (สีลัพพตปรามาส) ด้วยการประเมินพฤติกรรมทางกายและวาจาที่เปลี่ยนไปในทางที่เป็นกุศล ของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ส่วนการประเมินทางใจของผู้ปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ยกเว้นผู้ที่มีคุณธรรมที่สูงกว่า   

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕