หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาทศพล จนฺทวํโส (มาบัณฑิตย์)
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๕ ครั้ง
ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ไทย พ.ศ. 2154-2394
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาทศพล จนฺทวํโส (มาบัณฑิตย์) ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ไทย พ.ศ. ๒๑๕๔-๒๓๙๔” นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในอุดมคติทางพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับมหากษัตริย์ไทย พ.ศ. ๒๑๕๔-๒๓๙๔ ในการสร้างพระราชอำนาจ พระบารมี ความชอบธรรมและส่งเสริมการปกครองของพระมหากษัตริย์ และ (๓) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ไทย พ.ศ. ๒๑๕๔-๒๓๙๔ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก ตำราวิชาการ บทความวิชาการ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ผลงานวิจัยพบว่าปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อความความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ไทย ได้แก่ การขึ้นครองราชย์แบบปราบดาภิเษก การเข้ามาของชาวต่างชาติ และเศรษฐกิจ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์แบบภาวะพึ่งพากันต่างก็ได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน พระมหากษัตริย์ได้ใช้แนวคิดทางพระพุทธศาสนา เช่น ธรรมราชา จักรพรรดิราช และคติพระโพธิสัตว์ เสริมสร้างพระราชอำนาจ บุญบารมี และความชอบธรรมเพื่อส่งเสริมอำนาจการปกครอง ส่วนพระพุทธศาสนาได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ คือ การอุปถัมภ์ดูแลใน ๔ ด้าน คือ ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ และ ศาสนพิธี และยกไว้ในฐานที่เคารพศรัทธา

ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยาเป็นแบบแผนให้พระมหากษัตริย์ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นใช้เป็นต้นแบบ แต่ด้วยบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเสียหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ทำให้พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ต้องปรับใช้แนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่แตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางสังคม ทั้งต้องเชิดชูพระราชอำนาจ บุญบารมีในการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง พบว่า พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาเน้นแสดงพระองค์เป็นจักรพรรดิราชผู้ทรงธรรม สมัยธนบุรีสภาพบ้านเมืองเอื้อต่อคติพระโพธิสัตว์ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเทียบเทียงพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าบนโลกมนุษย์ด้วยการสร้างพระบารมีเฉพาะพระองค์ และสมัยรัตนโกสินทร์กลับไปใช้แบบแผนเดิมแต่ได้เข้าไปควบคุมมาตรฐานพระรัตนตรัย เช่นการสังคายนาพระไตรปิฎก การออกระเบียบควบคุมพระสงฆ์ และสร้างพุทธสัญลักษณ์ที่มีความพิเศษทั้งในเชิงปริมาณและขนาด

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕