หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สุนีย์รัตน์ คงศิริ
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๒ ครั้ง
แนวทางการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่(สาขาวิชาการพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : สุนีย์รัตน์ คงศิริ ข้อมูลวันที่ : ๑๘/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สมบูรณ์ บุญฤทธิ์
  ลัญจกร นิลกาญจน์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ มีนาคม ๒๖๕๑
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้  มีวัตถุประสงค์  ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของพิพิธภัณฑสถานคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ๒) และศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร หนังสือ วารสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสำรวจพื้นที่ และการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ๔ กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มประชาชนในพื้นที่ กลุ่มผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ กลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว รวมจำนวน ๓๒ รูป/คน

ผลการวิจัยพบว่า

๑. พิพิธภัณฑสถานคลองท่อมเดิมเป็นสถานที่สำหรับเก็บลูกปัดและโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบที่ ควนลูกปัด ก่อตั้งโดยพระครูอาทรสังวรกิจเจ้าอาวาสวัดคลองท่อมในปี ๒๕๐๙ และพัฒนามาเป็นพิพิธภัณฑ์พระครูอาทรสังวรกิจเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ในปี ๒๕๒๕ ต่อมาเมื่อพระครูอาทรสังวรกิจมรณภาพลง พิพิธภัณฑ์ก็ได้อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลตำบลคลองท่อมได้และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี ๒๕๕๐ ว่า พิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม หลังจากนั้นพิพิธภัณฑ์ก็ได้ปรับปรุงสภาพทั้งภายนอกและภายในให้มีความทันสมัยมากขึ้นจนแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๘ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น พิพิธภัณฑสถานคลองท่อม จนถึงปัจจุบัน

๒. แนวทางในการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑสถานคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พบแนวทางการพัฒนาคือ ๑) ด้านการจัดการพื้น โดยสำนักงานเทศบาลตำบลคลองท่อมใต้ ควรปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม ควรปรับปรุงทางเดินเท้าให้เป็นพื้นคอนกรีตและมีหลังคากันแดดกันฝน ควรจัดระเบียบการจอดรถ ควรมีฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับโบราณวัตถุ และควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการเก็บรักษาโบราณวัตถุทุกชิ้น ๒) ด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดกระบี่และสำนักงานเทศบาล  ตำบลคลองท่อมใต้ควรร่วมมือกันจัดทำเอกสารแนะนำ แผ่นพับ สื่อโฆษณาที่มีความหลากหลาย    ป้ายและลูกศรชี้บอกเส้นทางอย่างชัดเจน ๓) ด้านบริการการท่องเที่ยว โดยสำนักงานเทศบาลตำบล

 

 

คลองท่อมใต้ ควรเพิ่มบุคลากรและพัฒนาด้านภาษาอังกฤษให้สื่อสารกับชาวต่างชาติได้ จัดทำแผ่นพับเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ๔) ด้านการปลุกจิตสำนึก โดยสำนักงานวัฒนธรรมและศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามันจังหวัดกระบี่รวมถึงเทศบาลตำบลคลองท่อมใต้ ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ควรร่วมกันรณรงค์ ให้ความรู้สร้างความศรัทธาและความเชื่อในเรื่องราวของลูกปัดและโบราณวัตถุ สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นจะต้องเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เด็กและเยาวชนให้รู้จักถึงความสำคัญและคุณค่าของประวัติศาสตร์และโบราณคดี ควรสร้างความร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชน หน่วยงานของรัฐ กลุ่มผู้ประกอบการ สอดส่องดูแล ร่วมกันอนุรักษ์และร่วมสร้างความรู้สึกรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับแหล่งโบราณวัตถุ โดยการเริ่มจากสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดกระบี่ ควรมีกิจกรรมเสริมหลักสูตรโดยการนำนักเรียนไปศึกษานอกสถานที่ควนลูกปัดและพิพิธภัณฑสถานคลองท่อมอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ๕) ด้านเศรษฐกิจชุมชน โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่และสำนักงานเทศบาลตำบลคลองท่อมใต้ ควรร่วมมือกันในการส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมให้ความรู้ในการทำผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวโดยเน้นกระบวนการผลิตจากภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในกระบวนการผลิตเป็นของฝากของที่ระลึกที่มีต้นทุนต่ำ และจัดตั้งกลุ่มร้านค้าชุมชนที่เน้นเฉพาะผลิตภัณฑ์ลูกปัดโบราณในหลากหลายรูปแบบ และต้องยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้า หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงแหล่งที่มา ประวัติความเป็นมา รวมถึงเรื่องราวตามความเชื่อความศรัทธาในตัวผลิตภัณฑ์ และ  ควรพัฒนาระบบ QR Code ไว้บนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่ระลึก

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕