หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ทวีศักดิ์ สุขกมล
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๙ ครั้ง
การใช้หลักสัปปุริสธรรมในการบริหารงานเชิงบูรณาการของผู้บริหารเทศบาลตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อผู้วิจัย : ทวีศักดิ์ สุขกมล ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ
  พูนชัย ปันธิยะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาหลักสัปปุริสธรรมในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีการบริหารงาน การบูรณาการ และการบริหารงานเทศบาลตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (๓) เพื่อวิเคราะห์การใช้หลักสัปปุริสธรรมในการบริหารงานเชิงบูรณาการของผู้บริหารเทศบาลตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการโดยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการศึกษาเอกสาร และภาคสนามด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่เทศบาลตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

             ผลการวิจัยพบว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักสัปปุริสธรรมแก่บริษัทตามโอกาสสถานที่ต่าง ๆ กันพระองค์ทรงแสดงคุณสมบัติของภิกษุที่เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก จะต้องประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ คือ (๑) ธัมมัญญุตา (เป็นผู้รู้จักเหตุ)
(๒) อัตถัญญุตา
(เป็นผู้รู้จักผล) (๓) อัตตัญญุตา (เป็นผู้รู้จักตน) (๔) มัตตัญญุตา (เป็นผู้รู้จักประมาณ)
(๕) กาลัญญุตา
(เป็นผู้รู้จักกาล) (๖) ปริสัญญุตา (เป็นผู้รู้จักบริษัท) (๗) ปุคคลัญญุตา (เป็นผู้รู้จักบุคคล) ผู้ที่ประกอบด้วยหลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ดังกล่าวย่อมเป็นผู้ควรแก่การคำนับ นับถือ ยกย่อง ของบุคคลทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้ายกย่องว่าเป็น “สัตบุรุษ” หรือ “คนดีแท้” การกระทำหรือพฤติกรรมของเขามีความเหมาะสมถูกต้องดีงามย่อมนำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

             ทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานในการบริหารงานจากแนวคิดของนักวิชาการหลายท่านในอดีตจนถึงปัจจุบันที่ได้เสนอไว้ในกระบวนการบริหารงานทั้งหมดมีความคล้ายคลึงกัน และยังเป็นทฤษฎีที่ใช้การได้ดีไม่ล้าสมัย เพื่อให้ได้มาซึ่งการบริหารงานที่มีความเหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ มีนักวิชาการทางการบริหารส่วนใหญ่ได้ศึกษาและวิเคราะห์แนวความคิดทั้งหมดและสรุปว่ากระบวนการจัดการควรจะมีเพียง ๔ ขั้นตอน คือ (๑) การวางแผน (๒) การจัดองค์การ (รวมทั้งการจัดคนเข้าทำงานด้วย) (๓) การอำนวยการหรือการชี้นำ (๔) การควบคุมติดตามผลการทำงาน และในปัจจุบันการบริหารงานของผู้บริหารองค์การต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการบริหารจัดการเข้ามาสนับสนุนองค์การ ดังนั้นการนำหลักวิชาการตามกระบวนการบริหารจัดการมาใช้จึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นเทคนิคและวิธีการในการดำเนินงานให้องค์การปฏิบัติเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

             ส่วนการบูรณาการโดยภาพรวมแล้ว เป็นการนำสิ่งหนึ่งเข้ารวมกันกับอีกสิ่งหนึ่งหรือผสมผสานรวมกันให้กลมกลืนจากส่วนย่อยทำให้สมบูรณ์สมดุลจนเกิดความเป็นองค์รวมในตัวเองสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

             เทศบาลตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นองค์กรส่วนท้องถิ่นที่ประสานงานสนับสนุนการดำเนินงานและสนองนโยบายของภาครัฐ และเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ในการบริหารงานของเทศบาลตำบลไหน่อาจแยกได้เป็น ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านหลักการบริหารงาน (๒) ด้านการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์หรือโครงการต่าง ๆ (๓) ด้านการบริหารบุคคล (๔) ด้านการบริหารงานคลัง ทั้งนี้ทางเทศบาลได้ยึดหลักธรรมาภิบาล ยึดระเบียบตามหลักกฎหมาย เป็นต้น ในการขับเคลื่อนการบริหารงานทั้ง ๔ ด้านดังกล่าว และมีโครงสร้างการแบ่งอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน

             จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ การใช้หลักสัปปุริสธรรมในการบริหารงานเชิงบูรณาการของผู้บริหารเทศบาลตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยภาพรวม เมื่อพิจารณาหลักสัปปุริสธรรมในแต่ละด้านมีการนำมาใช้ในการบริหารงานเชิงบูรณาการครบทั้ง ๗ ด้านจริง แต่ไม่เด่นชัดเป็นการแฝงหลอมรวมอยู่ในหลักการบริหารงานภาครัฐซึ่งเน้นเรื่องเทคนิคและวิธีการในการดำเนินงานด้านการบริหารงานของเทศบาล

 

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕