หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » รัชพล ศิริรัตน์พิริยะ
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
บูรณาการหลักมรณานุสติกับกระบวนการดำเนินงานกู้ชีพ และบรรเทาสาธารณภัย
ชื่อผู้วิจัย : รัชพล ศิริรัตน์พิริยะ ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  วันชัย พลเมืองดี
  พระครูศรีวรพินิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ / มกราคม / ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง “บูรณาการหลักมรณานุสติกับกระบวนการดำเนินงานกู้ชีพและบรรเทาสาธารณภัย” มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักมรณานุสติในคัมภีร์พุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษากระบวนการดำเนินงานกู้ชีพและบรรเทาสาธารณภัยตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อบูรณาการหลักมรณานุสติในกระบวนการดำเนินงานกู้ชีพและบรรเทาสาธารณภั การวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพภาคสนาม ด้วยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์วิมุตติมรรค คัมภีร์วิสุทธิมรรค ตำราวิชาการ ผลงานวิจัย บทความวิจัย บทความวิชาการ วิทยานิพนธ์ รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคลด้วยแบบสัมภาษณ์ประเภทมีโครงสร้างที่มีคำถามแน่นอนกับผู้ปฏิบัติงานอาสาสมัครกู้ชีพและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการและผู้ปฏิบัติการ ของหน่วยงานเอกชน ในจังหวัดพะเยา แล้วทำการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้

หลักมรณานุสติมุ่งให้เอาสติมาระลึกถึงความตายและสาเหตุที่ทำให้เกิดความตาย ใช้ปัญญาพิจารณาความตายมีแก่ตนและคนอื่น นั้น บูรณาการในลักษณะเกื้อกูลต่อการปฏิบัติงานกู้ชีพและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งขณะก่อนเผชิญเหตุ ขณะเผชิญเหตุ และหลังจากเผชิญเหตุ คือ การตั้งสติไม่ประมาทในการเตรียมพร้อมทั้งสภาพร่างกาย วัสดุอุปกรณ์ และสภาพจิตใจ ไปเผชิญกับความฉุกเฉินเฉียดตาย ใช้ปัญญาพิจารณาถึงความตายอันจะมีแก่ตนและคนอื่น เห็นถึงธาตุแท้ของชีวิตหรือความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกผูกพันกับเหตุที่เผชิญแล้วส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ และรักษาจิตใจให้สงบด้วยการปฏิบัติมรณานุสติ คือการระลึกถึงความตายอยู่เนืองๆ เพื่อไม่ให้ความตายมาสร้างทุกข์และประมาทในกิจทั้งปวง สร้างบุญบารมีและความดีใส่ตัวเองก่อนความตาย ด้วยการทำดี คิดดี พูดดี และรู้ถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือไม่ควรปฏิบัติ

หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฏกเกี่ยวกับอาสาสมัคร เริ่มจากจาคะซึ่งเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ มีน้ำใจช่วยเหลือบุคคลอื่นให้พ้นจากความลำบาก เป็นการกระทำที่เป็นกุศลเกิดจากจิตใจที่ดีงาม หลักพุทธธรรมของพุทธศาสนานิกายเถรวาท ได้แก่ พรหมวิหาร อิทธิบาท ฆราวาสธรรม สังคหวัตถุ สาธารณียธรรม สัปปุริสทาน บนพื้นฐานของศีล การเจริญสมาธิ และปัญญา ส่วนหลักธรรมและความเชื่อเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ที่เป็นต้นแบบและแนวทางในการปฏิบัติงานอาสาสมัครของพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้แก่ คุณลักษณะของพระโพธิสัตว์ บารมี ๑๐ จริยธรรม ๑๐ และมหาปณิธาน

สำหรับผลการศึกษาการบูรณาการหลักธรรมมรณานุสติในการปฏิบัติงานจริงของอาสาสมัครกู้ชีพและบรรเทาสาธารณภัย กรณีศึกษาจังหวัดพะเยา พบว่า ทั้ง ๕ หน่วยงาน (มูลนิธิลือชา มูลนิธิสยามรวมใจ สมาคมพุทธญานร่วมกุศล สมาคมกู้ภัยกลาง หน่วยกู้ภัยท่าวังทอง) ซึ่งปฏิบัติงานในระดับการกู้ชีพขั้นต้น (Basic Life Support, BLS) นั้น อาสาสมัครทั้งระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการและระดับปฏิบัติการ ล้วนมีหลักมรณานุสติที่ใช้ยึดมั่นในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับดี โดยบูรณาการไว้ในการปฏิบัติงานเมื่ออยู่ในช่วงหลังเผชิญเหตุ มากกว่าระยะก่อนเผชิญเหตุและขณะเผชิญเหตุ ตามลำดับหลักธรรมมรณานุสติที่ได้มีการบูรณาการไว้ในการปฏิบัติงาน ๓ อันดับแรก คือ (๑) ไม่หวาดกลัว ไม่เสียใจ เกี่ยวกับ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และมองความตายเป็นเรื่องธรรมดา (๒) การเพียรทำความดี อยากทำความดี ขวนขวายในการทำความดี และ (๓) บ่มเพาะความเมตตากรุณา ความเอื้ออาทร ส่วน ๓ อันดับจากท้ายสุด คือ (๑) การระลึกถึงสาเหตุของการตาย (๒) การนำสติมาระลึกถึงความตายของตนเองและผู้อื่น และ (๓) การระงับความโลภ โกรธ หลง แม้ว่าอาสาสมัครจะระบุว่าไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคยกับมรณานุสติ และไม่เคยเจริญมรณานุสติ แต่มีความเห็นว่าทุกชีวิตมีเกิดแก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติ เกิดมาก็ต้องตายทุกคน เร็วช้าแตกต่างกันไป ไม่สามารถหลีกหนีได้ หมดเวรหมดกรรมก็ต้องตาย ความตายคือการจบสิ้นทุกอย่าง เหลือเพียงความดีและชื่อเสียง

การตัดสินใจเป็นอาสาสมัครเกิดจากแรงจูงใจของตนเอง ครอบครัว และส่วนรวม เช่น ความเลื่อมใสในจริยาวัตรของเทวอาจารย์ ต้องการบรรเทาความเจ็บป่วยของตนเองและคนในครอบครัว หรือชดเชยความประพฤติไม่เหมาะสมของตนเอง ด้วยเชื่อมั่นในบุญบารมีทางเมตตาธรรมของเทวอาจารย์ หลักธรรมที่เป็นหลักยึดถือในการปฏิบัติงาน คือเมตตาทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น มีพิธีกรรมเคารพเทวอาจารย์ การแสดงออกซึ่งความเคารพ ศรัทธา คือการกราบไหว้ การเซ่นไหว้ด้วยผลไม้ การทำความสะอาด และอธิษฐานจิตที่จะมุ่งทำความดี คิดดี พูดดี ทำดี ขอความดีความเมตตาของท่านคุ้มครองป้องกันให้ปลอดภัย ไม่มีอุปสรรคในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ รวมทั้งเชื่อมั่นในเรื่องของกรรม กล่าวคือ เชื่อมั่นในเจตนาดีของตนเอง มั่นใจว่าไม่ได้กระทำในสิ่งที่เป็นความชั่วร้าย ดังนั้นสิ่งดีงามน่าจะย้อนกลับมาหาตนเอง

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕