หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูชัยพัฒนานุกูล (ธนนพรุจฐ์ ชยนฺโต)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๐ ครั้ง
ศึกษารูปแบบการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุตามแนวพระพุทธศาสนาของวัดหัวฝาย ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
ชื่อผู้วิจัย : พระครูชัยพัฒนานุกูล (ธนนพรุจฐ์ ชยนฺโต) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูวรวรรณวิฑูรย์
  สุเทพ สารบรรณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ      ๒) ศึกษารูปแบบและอุปสรรคในการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุตามแนวพระพุทธศาสนาของวัดหัวฝาย อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายและ ๓) แนวทางการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุตามแนวพระพุทธศาสนาของวัดหัวฝาย อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร และวิจัยเชิงคุณภาพ เมื่อศึกษาจากเอกสารเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นแล้วผู้วิจัยจะทำการสำรวจเก็บข้อมูลภาคสนาม โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) แบบมีโครงสร้าง จากประชากรผู้ให้ข้อมูลหลักที่มีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุของโรงเรียนวัดหัวฝาย ได้แก่ พระสงฆ์ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน กลุ่มนักเรียนผู้สูงอายุ บุคลากรโรงพยาบาลศูนย์ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จำนวน ๑๓ คน คัดเลือกด้วยวิธีการเจาะจงเลือก (Purposive sampling) โดยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือก (Inclusion criteria) และขออนุญาตในการเก็บข้อมูลมีวิธีชีวิตและอยู่จริงในสนามวิจัย

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

๑. แนวคิดการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ การส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ เป็นการส่งเสริมสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย ทางสังคม ทางอารมณ์ และทางสติปัญญา สุขภาวะทางกาย เป็นการพัฒนากาย และการพัฒนาร่างกายให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพทั้งหลาย ในทางเป็นคุณประโยชน์เกื้อกูล ไม่เกิดโทษ รู้จักบริโภคปัจจัยสี่ให้มีคุณค่าสูงสุด สุขภาวะทางสังคมผู้สูงอายุ เป็นความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น อันได้แก่ สมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนบ้าน ทั้งนี้มีการแสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนของสังคม มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ร่างกาย สามารถฟื้นตัวจากโรคภัยไข้เจ็บได้เร็วขึ้น สุขภาวะทางอารมณ์ เป็นสภาวะทางด้านจิตใจของบุคคล ซึ่งมีผลมาจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดในชีวิต และวิธีการตอบสนองของบุคคลนั้น ต่อปัจจัยดังกล่าว รวมทั้งความสามารถ และโอกาสในการใช้เวลาส่วนตัว เพื่อความเพลิดเพลิน และผ่อนคลายความเครียด และสุขภาวะทางปัญญา เป็นความเชื่อความรู้ความเห็นความเข้าใจชีวิตและโลกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงสามารถอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตได้อย่างปกติสุข

๒. รูปแบบและอุปสรรคในการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุตามแนวพุทธศาสนา รูปแบบการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุวัดหัวฝาย ดำเนินกิจกรรม/โครงการในการพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุตามแนวพระพุทธศาสนา โดยการดำเนินงานผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย ตำบลสันกลาง จังหวัดเชียงราย เพื่อให้ผู้สูงอายุพัฒนาตนเองให้เป็นคนทันสมัย ทันโลกทันเหตุการณ์ วางตัวให้เป็นที่น่าเคาพรนับถือ มีศักยภาพไปช่วยชุมชน ไม่ปล่อยเวลาว่างให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ และผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไม่ประมาท

๓. แนวทางส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ แนวทางในการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ อาศัยการดำเนินงานกิจกรรม/โครงการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นด้านหลัก เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามคติความเชื่อของพระพุทธศาสนา รวมทั้งการดำเนินการตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อและวิถีชีวิตของชุมชน เช่น โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย ข่วงวัด ข่วงผญ๋า ข่วงชุมชน และสันกลางวิถีพุทธ เป็นการดำเนินงานโครงการที่อาศัยวัดเป็นสถานที่ดำเนินการ เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุ รวมทั้งอาศัยวัฒนธรรมท้องถิ่นดำเนินกิจกรรม เช่น โครงการอบรมธรรมะ แก่อุบาสก อุบาสิกา ประชาชน กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การสวดมนต์ข้ามปี การจัดกิจกรรมข่วงวัด ข่วงผญ๋า ข่วงชุมชน โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในเรื่องของ การเรียนรู้ภาษาล้านนา ตำรายาสมุนไพร การปรุงและรับประทานอาหารพื้นเมือง การหัตถกรรม เป็นต้น ดังนั้นจะพบว่า การดำเนินกิจกรรมทั้งหมดเป็นแนวทางส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ ทั้ง ๔ มิติ

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕