หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระใบฎีกาสองเมือง อธิมุตฺโต (จอมพล)
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๙ ครั้ง
ศึกษาผลสัมฤทธิ์ของโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ระยะที่ 1-2 ชุมชนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ชื่อผู้วิจัย : พระใบฎีกาสองเมือง อธิมุตฺโต (จอมพล) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูวรวรรณวิฑูรย์
  สุเทพ สารบรรณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

จากศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านศีล ๕  จังหวัดเชียงราย ๒) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านศีล ๕ จังหวัดเชียงราย    และ ๓) วิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ จังหวัดเชียงรายกับการส่งเสริมความปรองดองของชุมชน เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาและสัมภาษณ์ ผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์ มี ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ บุคลากรสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย และอำเภอแม่สาย กลุ่มที่ ๒ ประชาชนในชุมชนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และกลุ่มที่ ๓  ผู้บริหารสถานศึกษา ในเขตพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผู้วิจัยจะสำรวจและเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล โดยนำข้อมูลจากที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์ ประมวลความ สรุปผล และนำเสนอในรูปแบบการเขียนบรรยายเชิงพรรณนา

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

๑. การดำเนินงานโครงการหมู่บ้านศีล ๕  จังหวัดเชียงราย

ในการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” จังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการ ๒ ระยะ ดังนี้

ระยะที่ ๑ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ รับนโยบายการดำเนินงานโครงการฯ จากพระดำริของสมเด็จพระรัชมังคลาจารย์ ดำเนินการประกาศนโยบายการขับเคลื่อนโครงการฯ การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการโดยรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ

ระยะที่ ๒ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๗-เดือนกันยายน ๒๕๕๘ ดำเนินการจัดกิจกรรมตานนโยบายโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ โดยมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ

๒. ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านศีล ๕ จังหวัดเชียงราย

๑) ปัจจัยด้านบริบทโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประกอบด้วย ด้านสังคม โดยประธานแต่ละชุมชน และคณะกรรมการชุมชน มีหน้าที่สร้างเสริมจิตสำนึกความเสียสละต่อส่วนรวม เป็นผู้นำในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน ภายใต้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน (บวร)

๒) ปัจจัยด้านการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประกอบด้วย  
ปัจจัยด้านคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของชุมชนทั้ง ๓ ตำบล คือ การปรับความเห็นในเรื่องของทัศนคติการในการรักษาศีล เนื่องจากประชาชนเข้าใจผิดถึงการดำเนินการเป็น “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” ว่าจะต้องปฏิบัติตนให้ครบทั้ง ๕ ข้อ จึงไม่กล้าที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการฯ

๓. ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ จังหวัดเชียงรายกับการส่งเสริมความปรองดองของชุมชน

๑) ผลสัมฤทธิ์ด้านโครงสร้างการบริหารจัดการโครงการฯ จังหวัดเชียงรายมีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน

๒) ผลสัมฤทธิ์ด้านการบริหารจัดการโครงการฯ มีกระบวนการบริหารบริหารโครงการ โดยมีการวางแผน การจัดองค์การ การประสานงาน การควบคุม และการรายงานผลการดำเนินงาน มีการประกาศนโยบายในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล การขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ การประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ และมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการฯ

๓) ผลสัมฤทธิ์ด้านการรณรงค์ขับเคลื่อนโครงการฯ ผลจากการรณรงค์ขับเคลื่อนโครงการ มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในระดับจังหวัด คิดเป็นร้อยละ ๖๗.๑๑ ในระดับอำเภอ คิดเป็น    ร้อยละ ๕๔.๐๐ และในระดับตำบลแม่สาย คิดเป็นร้อยละ ๖๙.๕๗ ตำบลโป่งงาม คิดเป็นร้อยละ ๘๙.๕๙ และตำบลเกาะช้าง คิดเป็นร้อยละ ๙๒.๔๖ เมื่อเทียบกับประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนา และในระดับตำบลในระยะที่ ๒

๔) ผลสัมฤทธิ์ด้านบริบทของโครงการฯ ผลสัมฤทธิ์ด้านบริบทของโครงการฯ เป็นผลมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านสังคม และปัจจัยด้านวัฒนธรรม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน บ้าน วัด และโรงเรียน

๕) ผลสัมฤทธิ์ด้านการการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ได้ดำเนินการโดยมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ในทุกหมู่บ้าน โดยมีการมุ่งเน้นให้นักเรียน ให้ทาน รักษาศีล สวดมนต์ และอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรม การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ รวมทั้งการเข้าค่ายปฏิบัติธรรม ซึ่งคณะสงฆ์เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนเหล่านี้เป็นคนดีของชาติบ้านเมืองต่อไป

๖) ผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ เปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการฯ การดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยประเมินผลจากการดำเนินกิจกรรมผ่านขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละพื้นที่ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับประชากรชาวพุทธ มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในภาพรวมทั้ง ๓ ตำบล ร้อยละ ๘๓.๘๔ ถือว่าบรรลุตามเป้าหมาย

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕