หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสุรพล จนฺทวณฺโณ (ธรรมประโยชน์)
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๒ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่นของชาวพุทธในเขตอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสุรพล จนฺทวณฺโณ (ธรรมประโยชน์) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราเชนทร์ วิสารโท
  บุญส่ง สินธุ์นอก
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์  คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักศรัทธาในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒)  เพื่อศึกษาหลักศรัทธาที่มีต่อหลาวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น ของชาวพุทธ ในเขตอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักศรัทธาที่มีต่อพระพระเจ้าแสนสามหมื่น ของชาวพุทธ ในเขตอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ  งานวิจัยเรื่องนี้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการเก็บรวบรวมจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ตำรา เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและรวบรวมข้อมูลภาคสนามและนำเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ ผลจากการวิจัยพบว่า

หลักศรัทธาในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ได้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับหลักศรัทธาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาถึงความหมายของศรัทธาในพระไตรปิฎก และตามทรรศนะของนักวิชาการทั่วไป ความสำคัญของศรัทธาในพระพุทธศาสนา ศรัทธาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติทางศาสนามนุษย์ ความศรัทธาในพระรัตนตรัย  อันเป็นมูลเหตุให้เกิดศรัทธา โดยศรัทธานั้นแบ่งออกเป็น ๔ ประการ คือ ๑) กัมมสัทธา เชื่อกรรมกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง  ๒)  วิปากสัทธา เชื่อวิบาก ผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง  ๓)  กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน แต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เป็นไปตามกรรมของตน และ  ๔) ตถา  คตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณอันประเสริฐ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงคุณค่าและประโยชน์ของศรัทธาในพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง พบว่า ผู้วิจัยมีความเข้าใจในหลักศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตระหนักถึงความสำคัญของศรัทธา เข้าใจการเกิดขึ้นของศรัทธา ตลอดจนประเภทของศรัทธาเป็นอย่างดีเยี่ยม

ชาวอำเภอโซ่พิสัยมีบริบทสภาพไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ จำนวนประชากร วิถีชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ และส่วนใหญ่เป็นการทำการเกษตรทำส่วน และมีรายได้ต่อครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเป็นอยู่ที่ดีในระดับหนึ่ง หลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น (พระแสน) เป็นพระพุทธรูปที่มีประวัติความเป็นมาที่ชัดเจน ดังที่กล่าวมาแล้ว และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนอำเภอโซ่พิสัย อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการไปนิมนต์มาจากหอไตรกรุงเวียงจันทน์ โดยการล่องแพมาตามลำแม่น้ำโขง จนถึงที่และได้อันเชิญประดิษฐ์ฐานไว้ที่วัดสังขลิการาม อำเภอโซ่พิสัย จังหวังบึงกาฬ จนถึงทุกวันนี้ หลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น ถึงเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญต่อชาวอำเภอโซ่พิสัยเป็นอย่างมาก ตลอดถึงศรัทธาของชาวพุทธที่มีต่อองค์หลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น ในด้านการบูชา ประเพณีวัฒนธรรม พิธีกรรมในการปฏิบัติตลอดจนวิถีชีวิตของประชาชนในเขตอำเภอโซ่พิสัย

ความศรัทธาเลื่อมใสของประชาชนชาวพุทธในเขตอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ที่มีต่อหลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่นนั้น ถือได้ว่าเป็นความศรัทธาที่เกิดขึ้นด้วยความเชื่อที่พิจารณาเห็นด้วยสติปัญญาทางพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ ๑) ความเชื่อมั่นในกฎการกระทำ ๒) ความเชื่อมั่นในผลของการกระทำ ๓) ความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและผลของการกระทำ และ ๔) ความเชื่อมั่นในศักยภาพในการเข้าถึงอิสรภาพที่แท้จริงของมนุษย์ ความเชื่อที่อยู่นอกศาสนาพุทธ อันเป็นความเชื่อเกี่ยวกับวิทยาคม ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ ความเชื่อเรื่องเคล็ดและการแก้เคล็ดทางไสยศาสตร์ จะเห็นได้ชาวพุทธในเขตอำเภอโซ่พิสัยแล้ว  ชาวพุทธบางส่วนในสังคมชุมชน มีความเชื่อในลัทธิ ศาสนาต่างๆ ในการบวงสรวงบูชา สร้างสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทพเจ้า โดยแสดงออกถึงนัยที่เกิดจากความกลัวของมนุษย์ขาดที่พึ่ง ตั้งแต่ยุคโบราณกาล ดังนั้น ศาสนาและบูรพกษัตริย์จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว บำรุงขวัญและกำลังใจ ว่าจะมีการให้คุณหากบูชา และเป็นโทษหากลบหลู่ ที่ต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจ เพราะประชาชนในอดีตเคยเคารพนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนนั่นเอง ประชาชนชาวพุทธในเขตอำเภอโซ่พิสัย มีความศรัทธาต่อหลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น ความศรัทธาด้านความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต ความศรัทธาด้านความสำคัญต่อครอบครัว ความศรัทธาด้านความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ความศรัทธาด้านความแคล้วคลาดปลอดภัย ความศรัทธาด้านการปฏิบัติด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา ความศรัทธาด้านความสำคัญต่อสังคม จนเกิดเป็นประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ขึ้นสืบมา

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕