หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปลัดอนุวัฒน์ อนาวิโล (ดีเอี่ยม)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๐ ครั้ง
ผลสัมฤทธิ์การสอนวิชาพระพุทธศาสนาของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระปลัดอนุวัฒน์ อนาวิโล (ดีเอี่ยม) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังฆรักษ์ทรงพรรณ ชยทตฺโต
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาผลสัมฤทธิ์การสอนวิชาพระพุทธศาสนาของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อผลสัมฤทธิ์การสอนวิชาพระพุทธศาสนาของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนาผลสัมฤทธิ์การสอนวิชาพระพุทธศาสนาของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลภาคสนามจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จำนวน ๓๐๐ คน วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที และค่าเอฟ วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว เมื่อพบความแตกต่างจึงเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นคู่ ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด และในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพใช้การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง และใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๒ รูป/คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท

             ผลการวิจัยพบว่า

             ๑. ผลสัมฤทธิ์การสอนวิชาพระพุทธศาสนาของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๑ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านเทคนิคและวิธีการสอน อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๒ ด้านเนื้อหารายวิชา อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๖ ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๕๓ ด้านการใช้สื่อการสอน อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๕๙ ด้านการวัดผลและประเมินผล อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๘

             ๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อผลสัมฤทธิ์การสอนวิชาพระพุทธศาสนาของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า เพศ มีผลให้ความคิดเห็นที่มีต่อผลสัมฤทธิ์การสอนวิชาพระพุทธศาสนาของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี แตกต่างกันอย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนปัจจัยบุคคลอื่น ไม่พบความแตกต่าง

             ๓. ปัญหา อุปสรรคการสอนวิชาพระพุทธศาสนาของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พบว่า นักเรียนบางกลุ่มไม่ให้ความสนใจ, ขาดการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน, พระสอนศีลธรรมบางรูปใช้เสียงในระดับต่ำ, พระสอนศีลธรรมบางรูปไม่มีการทดสอบก่อนเรียนหรือไม่ได้เตรียมการสอน และมีข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนาผลสัมฤทธิ์การสอนวิชาพระพุทธศาสนาของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พบว่า ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันจัดอบรมถวายความรู้แก่พระสอนศีลธรรม โดยมีเนื้อหาในการอบรมครอบคลุมเรื่อง เทคนิคสำหรับการควบคุมห้องเรียน และจิตวิทยาการสอน และ พระสอนศีลธรรมควรใช้เทคนิคและวิธีการสอนที่หลากหลาย เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน, ควรเน้นการสร้างความศรัทธาเพื่อให้นักเรียนนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มากกว่า การเรียนเพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาจำนวนมาก, พระสอนศีลธรรมควรเปิดโอกาสให้นักเรียนซักถามในประเด็นที่สงสัยหรือไม่เข้าใจ โดยอาจใช้ช่วงเวลา ๑๐-๑๕ นาที ในช่วงท้ายชั่วโมงเรียน สำหรับการถาม-ตอบปัญหา, พระสอนศีลธรรมและสถานศึกษาควรร่วมมือกันจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนอกสถานที่ โดยอาจจัดให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา หรือเข้าค่ายพุทธบุตร เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง, พระสอนศีลธรรมที่มีอายุมากควรใช้เครื่องขยายเสียงมาเป็นอุปกรณ์ช่วยสอน, ควรนำสื่อการสอนที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เช่น คอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์ มัลติมิเดีย และรูปภาพต่างๆ มาใช้เพื่อสร้างความสนใจแก่ผู้เรียน, ควรวัดระดับพื้นฐานความรู้ของกลุ่มผู้เรียนก่อนการจัดการสอน โดยใช้แบบทดสอบซึ่งเป็นข้อคำถามปลายปิดหรือข้อคำถามปลายเปิด แล้วจึงสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้สำหรับการวางแผนจัดการเรียนการสอน, ปรับปรุงรูปแบบของข้อสอบหรือแบบทดสอบสำหรับการวัดผลและประเมินให้มีลักษณะของข้อคำถามที่สอบถามความเข้าใจในการนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕