หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » กัญญลักษณ์ จันทรวิบูลย์
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๘ ครั้ง
แนวทางส่งเสริมการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท 4 สำหรับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี (สาขาวิชาการบริหารการศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : กัญญลักษณ์ จันทรวิบูลย์ ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สมศักดิ์ บุญปู่
  พระมหาญาณวัฒน์ ิตวฑฺฒโน
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อวิเคราะห์สภาพการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ๒) เพื่อศึกษาหลักการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิภาพและการประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท ๔ เพื่อส่งเสริมการบริหารงานวิชาการ ๓) เพื่อเสนอแนวทางส่งเสริมการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ สำหรับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พัฒนาการ นนทบุรี ซึ่งเป็นงานวิจัยแบบผสมผสานวิธี ประกอบด้วย ๑) การวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๑๒๓ คน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ๒) การวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เอกสาร และสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๕ รูป/คน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา

สรุปผลการวิจัยพบว่า

๑. สภาพการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ในภาพรวม พบว่า มีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า มีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากทั้งหมด เรียงลำดับจากด้านที่มากไปหาด้านน้อย ได้แก่ ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านหลักสูตร ด้านวัดผลและประเมินผลการศึกษา และด้านสื่อการเรียนการสอน

๒. หลักการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิภาพและการประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท ๔ เพื่อส่งเสริมการบริหารงานวิชาการ ประกอบด้วย ๑) หลักการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิภาพทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ หลักสูตร การจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอน วัดผลและประเมินผลการศึกษา โดยมีหลักการและวิธีการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร ได้แก่ (๑) ยึดหลักให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นไปตามกรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง โดยมีครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วม (๒) จัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยจัดให้มีดัชนีชี้วัดคุณภาพการจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ และสามารถตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษาได้ทุกช่วงชั้น (๓) ส่งเสริมให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้รวมทั้งเป็นเครือข่ายและแหล่งการเรียนรู้ (๔) ส่งเสริมให้มีการร่วมมือเป็นเครือข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการจัดและพัฒนาคุณภาพการศึกษา (๕) ส่งเสริมสถานศึกษาให้จัดกระบวนการเรียนรู้โดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ๒) การประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท ๔ เพื่อส่งเสริมการบริหารงานวิชาการด้วยการประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท ๔

๓. แนวทางส่งเสริมการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ สำหรับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พัฒนาการ นนทบุรี ทั้ง ๕ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านหลักสูตร ควรมีใจรักในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดหลักสูตร หมั่นประชุมวางแผนจัดการเรียนการสอนด้วยใจรักอยากให้เกิดผลสำเร็จ ควรจัดอบรมเกี่ยวกับเทคนิคการการจัดทำหลักสูตร มีการดำเนินการตามแผนงานวิชาการด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาใจฝักใฝ่คิดค้นจัดทำโครงการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตร มีการกำกับติดตามการใช้หลักสูตรอย่างสม่ำเสมอด้วยความเอาใจใส่ ร่วมกันสรุปและประเมินผลในการใช้หลักสูตร และนำผลการประเมินผลการใช้หลักสูตรไปปรับปรุงใช้ในการบริหารงานวิชาการ ๒) ด้านการจัดการเรียนรู้ ควรมีการจัดการเรียนการสอนด้วยใจรัก จัดบรรยากาศในชั้นเรียนให้เอื้อเฟื้อต่อการเรียนการสอน สนับสนุนครูให้เอาใจใส่ในการใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น เอาใจใส่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ และจัดกิจกรรมที่มุ่งให้ผู้เรียนรู้จักพิจารณาและวิเคราะห์ในการเรียนการสอน ๓) ด้านสื่อการเรียนการสอน ควรจัดผู้สอนที่มีความพอใจและความรักในการสอนเพื่ออบรมการทำสื่อการเรียนการสอน บำรุงรักษาสื่อการเรียนการสอนให้อยู่ในสภาพดีด้วยความอดทน มีความขยันอดทนในการนำนวัตกรรมทางการศึกษามาใช้ จัดสรรงบประมาณสนับสนุนในการผลิตสื่อการเรียนการสอนด้วยความโปร่งใส สุจริต ตรวจสอบได้ และติดตามประเมินผลการใช้สื่อการเรียนการสอน  ๔) ด้านวัดผลและประเมินผล ควรมีความพอใจในการวัดผลและประเมินผลที่ได้ตามสภาพเป็นจริง หมั่นประชุมชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบการวัดและประเมินผล มีความขยันวางแผนการวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอนตลอดการปีการศึกษา สร้างเครื่องมือวัดผลโดยให้ครอบคลุมเนื้อหาตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ด้วยความอดทน เอาใจใส่นำผลการวัดผลและประเมินผลมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน และติดตามตรวจสอบการวัดและประเมินผลการศึกษาเพื่อปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕