เข้าชม : ๒๐๐๔๒ ครั้ง |
การศึกษาเชิงวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอนัตตาในพุทธปรัชญาเถรวาท (๒๕๔๒) |
|
ชื่อผู้วิจัย : |
พระมหานิยม สีลสํวโร (เสนารินทร์) |
ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐ |
ปริญญา : |
พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา) |
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ : |
|
พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต) |
|
ศาสตราจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน |
|
- |
วันสำเร็จการศึกษา : |
๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ |
|
บทคัดย่อ |
วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอนัตตาในพุทธปรัชญาเถรวาทตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก โดยศึกษาในเชิงอภิปรัชญา และจริยศาสตร์ผลจากการศึกษาวิจัยทำให้ทราบว่า
๑.พุทธปรัชญา แสดงหลักอนัตตา โดยสอดคล้องกับความจริงที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบหลังจากที่ตรัสรู้แล้ว คือ หลักปฏิิจจสมุปบาท อนัตตาจึงเป็นหลักความจริงในกฎธรรมชาติที่ สะท้อนให้เห็นถึงทรรศนะทางอภิปรัชญาของพระพุทธศาสนาที่แตกต่างไปจากคำสอนของลัทธิ ศาสนาและปรัชญาอื่น ๆ ในอินเดียอย่างเด่นชัด
๒. พุทธปรัชญา แสดงหลักอนัตตา โดยสัมพันธ์กับการศึกษา และปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่ง ถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน คือ ความยึดถือว่าเป็นตัวเรา ของเรา (อหังการ มมัง-การ) เป็นต้น ซึ่งจะเป็นแนวทางของการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา คือ ความว่างจากตัวตน(อัตตสุญญตา) ความหลุดพ้นจากทุกข์ (วิมุตติ) หรือความดับเย็นเป็นสุข(นิพพาน) ในที่สุดต่อไป
๓. พุทธปรัชญามีทรรศนะต่อแนวคิดเรื่องอัตตาแตกต่างจากศาสนาปรัชญาอื่นๆ ในอินเดียสรุปได้ ๒ ประการ คือ
๓.๑ พุทธปรัชญาปฏิเสธความมีอยู่ของอัตตา ที่หมายถึงอะไรบางอย่างที่มีอยู่อย่างแท้จริง เป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลง หรือแตกสลาย ไม่ว่าจะมีอยู่ในฐานะที่เป็นหลักการแรกสุด หรือมูลเหตุของสากลโลก หรือในฐานะธาตุแท้ หรือธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์ก็ตาม
๓.๒ พุทธปรัชญาอธิบายว่า สิ่งที่เรียกว่า "อัตตา" นั้น เป็นเพียงคำพูดที่ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน เป็นสำนวนคำพูดที่ใช้เรียกแทนสภาวะอันเป็นที่ประชุมแห่งกองสังขารที่เป็นสังขตธรรม เท่านั้นคำว่า "อัตตา" นี้จึงหาได้มีความหมาย หรือกินความเข้าไปถึงความมีอยู่แห่งกองขันธ์ในสภาวะที่เป็นตัวตนแท้จริง แยกออกไปต่างหากแต่อย่างใดไม่ เพราะสภาวะตัวตนเช่นนั้นไม่มี มันมีไม่ได้ สิ่งที่มีได้ ย่อมไม่ใช่อัตตา สิ่งที่เป็นอัตตา ย่อมมีไม่ได้ สรรพสิ่งปรากฏเสมือนว่าเป็นอัตตา แต่เบื้องหลังสภาพที่ปรากฏนั้น ก็คือภาวะที่แท้จริงว่า "สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา"
|
|
Download :
254202.pdf |
|