หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาประหยัด ปญฺญาวโร (สุนนท์)
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๑ ครั้ง
จริยธรรมที่ปรากฏในลำกลอน (๒๕๔๒)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาประหยัด ปญฺญาวโร (สุนนท์) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาพิธูร วิธุโร
  รองศาสตราจารย์จารุวรรณ ธรรมวัตร
  อาจารย์ปรีชา อุยตระกูล
วันสำเร็จการศึกษา : ๕ เมษายน ๒๕๔๒
 
บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาประเภทของจริยธรรม รายละเอียดของจริยธรรม และวิธีสอนจริยธรรมที่ปรากฏในลำกลอน โดยศึกษาจากกลอนลำของหมอลำเอกจำนวน ๖ คน คือ หมอลำทองมาก จันทะลือ หมอลำเคน ดาเหลา หมอลำบุญชื่น บุญศรี หมอลำทองคำ เพ็งดี หมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย และหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน การศึกษาได้ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งจากหนังสือ เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แถบบันทึกเสียง  และข้อมูลภาคสนาม 

          ผลการศึกษาพบว่า จริยธรรมที่ปรากฏในลำกลอนมีอยู่ ๒ ลักษณะคือ  จริยธรรมด้านจารีต และจริยธรรมด้านหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

          จริยธรรมด้านจารีตที่ปรากฏในลำกลอนพบว่า บุคคลควรปฏิบัติตามฮีตคลอง ๑๔ ประการ โดยแบ่งเป็นจริยธรรมตามฐานะและหน้าที่ของกลุ่มบุคคล ดังนี้

          จริยธรรมสำหรับชนชั้นปกครองพบว่า  นักปกครองที่ดี   ควรปกครองบ้านเมืองตามหลักทศพิธ ราชธรรม และปฏิบัติตามฮีตบ้านคลองเมือง ๑๔ ประการ

          จริยธรรมสำหรับผู้อยู่ใต้ปกครองพบว่า ผู้อยู่ใต้ปกครองที่ดี ควรมีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง ขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ และปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ

          จริยธรรมสำหรับบุคคลทั่วไปพบว่า บุคคลในกลุ่มครอบครัวและเครือญาติ ได้แก่ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ สามีภรรยา ลูกหลาน ลูกเขย ลูกสะใภ้ บุรุษ สตรี ควรปฏิบัติตนให้เหมาะสมตามฐานะ วัย และเพศของตน จริยธรรมสำหรับชุมชนพบว่า ประชาชนฝ่ายฆราวาสควรร่วมมือกันประกอบกิจกรรมของชุมชน คือบุญประเพณีฮีตสิบสอง และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อองค์ประกอบของศาสนา ประชาชนฝ่ายบรรพชิตควรศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย เทศนาสั่งสอนประชาชน ทำกิจวัตรประจำวัน และร่วมสร้างสรรค์งานสังคม

          จริยธรรมด้านหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในลำกลอนพบว่า ลำกลอนจะกล่าวถึงคำสอนในเรื่องบุญกรรม การเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ ศีล ทาน พระศรีอริยเมตไตรย อบายมุข ความกตัญญู และไตรลักษณ์  (เน้นอนิจจตา)
 ผลการศึกษาจริยธรรมที่ปรากฏในลำกลอนพบว่า   จริยธรรมด้านจารีต  ลำกลอนจะเน้น จริยธรรมของบุคคลในกลุ่มครอบครัวและเครือญาติมากกว่าจริยธรรมของกลุ่มบุคคลอื่น จริยธรรมด้านหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ลำกลอนจะเน้นคำสอนในเรื่องบุญกรรมมากกว่าคำสอนข้ออื่น ๆ

          การศึกษาวิธีสอนจริยธรรมที่ปรากฏในลำกลอน พบว่า ลำกลอนมีวิธีสอนจริยธรรม ๖ วิธี คือ สอนอย่างตรงไปตรงมา สอนโดยยกนิทานหรืออุทาหรณ์ประกอบ สอนโดยการใช้โวหารเปรียบเทียบ สอนโดยอ้างสิ่งที่ชาวบ้านเชื่อศรัทธา สอนโดยวิธีกล่าวประชดประชัน และสอนโดยใช้ผญาภาษิต
 

Download : 254206.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕