หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาว กิติยา อุทวิ
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๙ ครั้ง
ความเชื่อและคุณค่าของการสร้างพระพุทธปฏิมาในล้านนา(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : นางสาว กิติยา อุทวิ ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๗/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
 
 
 
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

             งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะทำการศึกษาแนวความคิดในเรื่องของความเชื่อและคุณค่าของการสร้างพระพุทธปฏิมาในล้านนา โดยได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์ในพระไตรปิฎกและหนังสือหรือตำราอื่น ๆที่มีข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อและคุณค่าของการสร้างพระพุทธปฏิมาในล้านนา ตลอดจนการสอบถามจากผู้รู้ในเชิงวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในสายงานปฏิมากรรมและสายงาน อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อนำเสนอทฤษฏีความเชื่อและคุณค่าของการสร้างพระพุทธปฏิมาที่มีผลต่อวิถีชีวิตและสังคมในล้านนา เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและพัฒนาในเชิงอนุรักษ์ต่อไปในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งหัวข้อการศึกษาออกเป็น ๕ บท โดยเริ่มศึกษาจาก

ประวัติความเป็นมา มูลเหตุในการสร้างพระพุทธปฏิมา ในยุคเริ่มแรก เพื่อปูพื้นฐานและเป็นแนวทางในการศึกษาประวัติความเป็นมาของการสร้างพระพุทธปฏิมาสำริดในล้านนา ตลอดจนถึงพิธีกรรมความเชื่อที่มีผลต่อการสร้างพระพุทธปฏิมาสำริดในล้านนา เพื่อให้มองเห็นคุณค่าของการสร้างสรรค์งานเพื่อตอบสนองศรัทธาความเชื่อที่เป็นรูปแบบของงานวิจิตรศิลป์ในสายงานปฏิมากรรมอันทรงคุณค่าที่ผสมผสานสืบทอดมาในวิถีชีวิตของสังคมล้านนาอย่างไรผลของการศึกษาพบว่า การสร้างพระพุทธปฏิมาในยุคเริ่มแรกนั้น ได้ส่งอิทธิพลทั้งศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตของคนในสมัยนั้น ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ต่าง ๆ ให้กับยุคต่อ ๆ มา และ เมื่อรับอิทธิพลแล้วก็เลือกสรรคัดเอาสิ่งที่เห็นว่าเหมาะสมกับสภาพสังคมของตน และผสมผสานพัฒนาให้เป็นรูปแบบที่มีความเป็นเฉพาะตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และส่งอิทธิพลนั้นต่อไปให้กับพื้นที่ใกล้เคียงและยุคต่อ ๆ มาจนเข้าสู่ล้านนามาจนถึงปัจจุบันเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในผืนแผ่นดินล้านนาก็ได้นำพาความเชื่อความศรัทธาและหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาผสมผสานกับความเชื่อและภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น ก่อเกิดวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนจารีตประเพณีที่คงความงดงามและเป็นเอกลักษณ์ ของล้านนาจนเป็นที่ยอมรับของมหาชน การสร้างพระพุทธปฏิมาในล้านนาเป็นผลของการยอมรับนับถือในพระพุทธศาสนาและหลักความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธองค์เป็นสำคัญยังผลให้เกิด พิธีกรรม ที่เป็นวิถีปฏิบัติทั้งพุทธพิธี ผสมผสานกับพราหมณ์พิธีและความเชื่ออันเป็นพื้นฐานดั้งเดิม ก่อเกิดรูปแบบของพิธีกรรมเฉพาะถิ่นขึ้นเพื่อยังประโยชน์ในการสร้างอุบายให้พุทธศาสนิกชนมั่นคงในพระพุทธศาสนา ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน และตอบสนองศรัทธาความเชื่อในอานิสงส์แห่งทานบารมี เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นเกาะกำบังทางแห่งอกุศลมูลทั้งหลาย ยังผลให้สังคมสงบสุข ร่มเย็น พุทธศาสนิกชนเห็นธรรมจนสามารถรังสรรค์งานพุทธศิลป์ที่วิจิตรพิสดาร จนเป็นที่ยอมรับของสากลส่งอิทธิพลต่องานศิลปะในสาขาอื่น ๆ อันประกอบด้วยงานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม นาฏกรรม และวรรณกรรมเมื่อก่อเกิดพระพุทธปฏิมา ย่อมมีการพัฒนา ศาสนะอันประดิษฐาน มีการปฏิบัติบูชาของมหาสังฆะ มีการสักการะของเหล่าพุทธศาสนิกชน จนเลื่องลือขจรขจายไปอย่างไพศาล ผู้ได้ยินได้ ฟัง พุทธานุภาพ ดั้นด้นเดินทางมาจากทุกสารทิศ เพื่อประกอบกิจบูชา พร้อมทั้งชื่นชมวิถีประชา อันสร้างคุณค่าในสังคมล้านนาอย่างอเนกอนันต์ สามารถแยกออกได้ ๒ ประการคือคุณค่าของการสร้างพระพุทธปฏิมาทางด้านบุคคลความเชื่อในการสร้างพระพุทธปฏิมาสำริดในล้านนามีผลให้เกิดคุณค่าต่อจิตใจที่พร้อมจะน้อมนำเอาหลักการของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข เมื่อประสบกับปัญหาในการดำเนินชีวิตก็พึ่งพาอานิสงส์ของพระพุทธปฏิมาทั้งในด้านการสักการะการยึดเป็นที่พึ่งทางใจและน้อมนำจิตใจให้เข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์และในด้านอานิสงส์แห่งทาน ที่ผ่านทางพิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่มีส่วนในการกล่อมเกลาลักษณะของคนล้านนาให้งดงามได้ เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านของบุคลิกลักษณะ การแสดงออกและน้ำใจไมตรี ที่บ่งบอกความเป็นล้านนาได้อย่างชัดเจนคุณค่าของการสร้างพระพุทธปฏิมาสำริดในด้านสังคมคุณค่าของการสร้างพระพุทธปฏิมาสำริดในด้านสังคม ล้านนาเป็นสังคมที่มีอิทธิพลของพระพุทธศาสนาชัดเจนมาก ถึงแม้ว่าจะผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมก็ตามในกระบวนการสร้างพระพุทธปฏิมาเป็นการประสานร่วมมือกันของคนในสังคมเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำให้สังคมมีความรู้สึกถึงความเป็นพวกพ้อง เป็นหมู่เหล่า และร่วมกันรักษาพื้นที่ธรรมทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นมรดกของคนในสังคม ให้ยาวนานที่สุด เป็นขบวนการของประชาสังคมเชิงพุทธที่จะสามารถรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ถ่ายทอดพระธรรมคำ สอน บันทึกประวัติศาสตร์ สร้างงานพุทธศิลป์เป็นแรงบันดาลใจในงานศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และสร้างฐานทางเศรษฐกิจในสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตามการสร้างพระพุทธปฏิมาสำริดในล้านนา จะยังอยู่คู่กับศรัทธาความเชื่อและยังสามารถจรรโลงพระพุทธศาสนาในล้านนา บ่งบอกความเจริญงอกงามหรือความเสื่อมถอยใน
พระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

Download : 255170.pdf

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕