หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสาธิต จิตปญฺโญ (สิงห์โตทอง)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๒ ครั้ง
lการปฏิบัติตามหลักสันโดษของชาวบ้าน บ้านหนองข่า ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี(๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระสาธิต จิตปญฺโญ (สิงห์โตทอง) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระปลัดเสน่ห์ ธมฺมวโร, ดร.
  ผศ.ดร.วิโรจน์ อินทนนท์
  ผศ.จินตนา มัธยมบุรุษ
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความเข้าใจเรื่องหลักสันโดษที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาการปฏิบัติตามหลักสันโดษของชาวบ้าน และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับพฤติกรรมการปฏิบัติตามหลักสันโดษ และความสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสันโดษกับพฤติกรรมการปฏิบัติตามหลักสันโดษของชาวบ้าน บ้านหนองข่า ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ชาวบ้าน จำนวน ๑๓๔ ครัวเรือน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบสอบถาม และแบบสำรวจบริบทของชุมชน สถิติที่ใช้ ประกอบด้วย ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าอันดับ (Rank) ค่าเฉลี่ย (x) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับพฤติกรรมการปฏิบัติตามหลักสันโดษ โดยใช้การทดสอบค่า t-test และ F-test หรือ Oneway ANOVA และการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสันโดษกับพฤติกรรมการปฏิบัติตามหลักสันโดษ โดยใช้การทดสอบค่า t-test ค่านัยสำคัญทางสถิติที่ใช้ กำหนดไว้ที่ระดับ ๐.๐๕ พร้อมกับนำเสนอในรูปตารางประกอบการบรรยาย ซึ่งสามารถสรุปผลการวิจัย ดังนี้

ชาวบ้านมีความเข้าใจมากเกี่ยวกับหลักสันโดษ ประมาณ ๖ ใน ๑๐ คน ส่วนอีก ๔ ใน ๑๐ คน มีความเข้าใจหลักสันโดษน้อย และมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับหลักสันโดษว่า หลักสันโดษฉุดรั้งการพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า และหลักสันโดษไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ 

การปฏิบัติตามหลักสันโดษของชาวบ้าน พบว่า ชาวบ้านมีการปฏิบัติตามหลักสันโดษด้านลาภสันโดษสูงที่สุด คือ การกู้ยืมหนี้สินตามฐานะรายได้หรือความเป็นอยู่ของตนเอง แต่มีการสะสมวัตถุอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอย เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ตามความจำเป็นและประโยชน์ ต่ำที่สุด รองลงมาคือ การปฏิบัติตามหลักสันโดษด้านพลสันโดษ คือ ไม่ประพฤติดูหมิ่นผู้อื่นที่มีกำลังฐานะต่ำกว่าตน แต่ไม่พยายามต่อสู้ดิ้นรนด้วยกำลังความสามารถของตนเอง ต่ำที่สุด คือ มักหวังพึ่งการช่วยเหลือจากภายนอกมากเกินไป และการปฏิบัติตามหลักสันโดษที่ต่ำที่สุด คือ ด้านสารุปปสันโดษ โดยชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม แต่มีพฤติกรรมการปฏิบัติตนเป็นผู้ลด ละ เลิกสิ่งเสพติดและอบายมุข ต่ำที่สุด

เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับพฤติกรรมการปฏิบัติตามหลักสันโดษ พบว่า ลักษณะส่วนบุคคลและครัวเรือน ประกอบด้วย เพศ อายุ จำนวนคนในครัวเรือน ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส อาชีพหลัก รายรับต่อเดือน ศาสนา และเศรษฐกิจในครัวเรือนที่ต่างกันมีการปฏิบัติตามหลักสันโดษแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕

ความสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสันโดษกับพฤติกรรมการปฏิบัติตามหลักสันโดษ พบว่า กลุ่มชาวบ้านที่มีความเข้าใจหลักสันโดษน้อย มีแนวโน้มการปฏิบัติตามหลักสันโดษต่ำกว่าและกลุ่มที่มีความเข้าใจหลักสันโดษมาก ซึ่งมีการปฏิบัติตามหลักสันโดษสูงกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ และ ๐.๐๕

สภาพปัญหาและข้อเสนอแนะ พบว่า ชาวบ้านมีการปฏิบัติตามหลักสันโดษด้านสารุปปสันโดษต่ำที่สุด โดยเฉพาะปัญหาการประพฤติตนตามหลักศีลธรรมจริยธรรม ปัญหาขาดความสามัคคี ปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน และปัญหาอาชญากรรม เสพสุรา ติดยาเสพติด เล่นการพนัน โดยเสนอให้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกภาคส่วน คือ บ้าน วัด โรงเรียน ในการให้ความรู้และส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักสันโดษที่ถูกต้อง การปฏิบัติตามหลักศีลธรรมของศาสนา และส่งเสริมกิจกรรมที่เน้นความสามัคคีของคนในชุมชน การจัดเวทีประชาชนให้หันมาร่วมมือกันพัฒนาชุมชนโดยใช้เศรษฐกิจพอเพียง ไม่แบ่งแยกว่าหลักสันโดษเป็นกิจกรรมเฉพาะปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ควรจัดทำให้กิจกรรมสาธารณะที่ทุกคนมีส่วนร่วม

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕