หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระไพบูลย์ ญาณวิปุโล (พิศาลวชิโรภาส)
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๓ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์การฟังอย่างลึกซึ้งในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระไพบูลย์ ญาณวิปุโล (พิศาลวชิโรภาส) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.
  ผศ.ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการฟังอย่างลึกซึ้งโดยทั่วไป ๒) เพื่อศึกษาหลักการฟังอย่างลึกซึ้งในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อศึกษาแนวทางในการประยุกต์ใช้วิธีการฟังอย่างลึกซึ้งในสังคมปัจจุบัน

                  ผลการวิจัยพบว่า

                  ๑. แนวคิดเกี่ยวกับการฟังอย่างลึกซึ้งโดยทั่วไป พบว่า การฟังอย่างลึกซึ้ง          แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ฟังเสียงภายใน ได้แก่ การฟังในแง่ของความคิด ความรู้สึก คุณค่า ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง ๒) การฟังเสียงภายนอก ได้แก่ การฟังที่เกิดจากการสัมผัส ความสัมพันธ์ ผลประโยชน์ ข้อมูล ระหว่างผู้รับสารกับผู้ส่งสาร โดยการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นการฟังเพื่อหาความหมายด้วยกัน การมีส่วนร่วม ก้าวพ้นอคติในการมองความคิดของคนอื่น   ที่ไม่เหมือนเราว่าผิดหากมองว่าต่าง และเป็นการฟังเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญา

                  ๒. หลักการฟังอย่างลึกซึ้งในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า หลักสำคัญของ     การฟังอย่างลึกซึ้งมี ๒ ปัจจัยหลัก คือ ๑) ปัจจัยภายนอก ที่เรียกว่า ปรโตโฆสะ คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน ศึกษาเล่าเรียน การสนทนา ฟังคำบอกเล่าชักจูงจากผู้อื่น โดยเฉพาะ         การฟังธรรมจากผู้เป็นกัลยาณมิตร ชื่อว่า สุตมยปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง และ               ๒) ปัจจัยภายใน ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ การฟังภายในใจอย่างแยบคาย ฟังสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา สืบสาวหาสาเหตุ แยกแยะสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้น ๆ ให้เห็นตามสภาวะความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ชื่อว่า จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณา และมีหลักธรรมที่เป็นองค์ประกอบในการฟังอย่างลึกซึ้ง ๓ ประการ คือ ประการที่ ๑ สติ  สติเป็นตัวควบคุมของ  การฟังทั้งหมด ทำให้การฟังนั้นได้สาระทั้งระดับกายภาพ ระดับจิตใจและระดับวิญญาณของเรื่องและของบุคคลผู้พูด ประการที่ ๒ โยนิโสมนสิการ  ซึ่งเป็นตัวการทำหน้าที่ทางปัญญาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และเป็นธรรมที่ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ทุกเวลา ทั้งในการรับรู้ ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย และประการที่ ๓ อคติ   โดยผู้ฟังปราศจากความมีอคติเพราะชอบหรือไม่ชอบ แต่การฟังนั้นเป็นปกติ ฟังจนจบกระบวนความของสารที่กำลังฟังอยู่  โดยมีอคติธรรมเป็นสื่อกลางที่ทำให้การฟัง             ประสบความสำเร็จไปสู่เป้าหมายหรือจุดหมายที่เรียกว่า การฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

                ๓. จากการศึกษาแนวทางในการประยุกต์ใช้วิธีการฟังอย่างลึกซึ้งในสังคมปัจจุบัน พบว่า รูปแบบของการสานเสวนาหรือที่เรียกว่าการทำ dialogue คือ กระบวนการมีส่วนร่วมที่เน้นการฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บุคคลหรือกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความคิด ความเชื่อ จุดยืนต่างกัน มีโอกาสพบปะพูดคุยแสดงความรู้สึก ฟังเงื่อนไขปัจจัยของกันและกัน          อย่างลึกซึ้ง เพื่อเข้าใจกันอย่างเห็นอกเห็นใจมากขึ้น การฟังเพื่อเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกันนั้น  ต้องมองข้าม “กรอบอ้างอิง” ของตน เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาและเข้าใจสถานการณ์ กระทั่งอาจเปลี่ยนแปลงความเข้าใจผิด ความขัดแย้งไปเป็นความเข้าใจและเห็นใจ กันมากขึ้น ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการสานเสวนาที่จะเป็นทางเลือกหนึ่งของ         การเสริมสร้างความเข้าใจป้องกันและลดปัญหาความขัดแย้ง โดยความเชื่อพื้นฐานว่ากระบวนการสานเสวนาสามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และเป็นทางเลือกที่สำคัญในรูปแบบของ “สันติวิธี” ในการลดปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรม การมีส่วนร่วม กระทั่งสามารถพัฒนาสู่สังคมที่เข้าใจกัน สงบสุข และยั่งยืน

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕