หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการเกียรติศักดิ์ กิตฺติเมโธ (กุนดี)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๒ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา(๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการเกียรติศักดิ์ กิตฺติเมโธ (กุนดี) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.ดร.
  อาจารย์รังษี สุทนต์
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

การวิจัยมีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ๒) เพื่อศึกษาบทบาทของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  ๓) เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อสังคมไทยด้านต่างๆ

        ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทำให้ทรงมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องความเชื่อเรื่องกรรม คติเรื่องพระโพธิสัตว์สิ่งที่ยืนยันความเชื่อในเรื่องนี้ คือ การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดให้ช่างหล่อรูปพระมาลัยและพระศรีอาริยเมตไตรไว้ในพระวิหารวัดอรุณราชวราราม คติเรื่องพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปีและ คติเรื่องปัญจอันตรธาน ได้ทรงบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจหลายประการเพื่อการพระศาสนา เช่น ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่งในการสร้างพระพุทธรูป เมื่อสร้างแล้วทรงโปรดให้อัญเชิญไปเป็นพระประธานในวัดที่ทรงสร้างโปรดให้มีอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมทุกพระอารามหลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีการบำเพ็ญกุศล  เนื่องจากการทำบุญพระองค์เชื่อว่าผลของการทำความดีนั้นย่อมมีอานิสงส์เป็นการตอบแทน  และพระองค์หวังที่จะเป็นพระโพธิญาณ  อีกทั้งในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจัยสภาพทางสังคม ประเพณีวัฒนธรรม  เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองที่มีความเอื้ออำนวยให้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามต่างมากมาย และทรงสนับสนุนให้ขุนนาง ข้าราชการหรือบุคคลทั่วไป ได้ปฏิบัติตามพระองค์ด้วย

                        พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาทรงอุปถัมภ์บำรุงคณะสงฆ์ทั้งพระสงฆ์สามเณรฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสี  ทรงถวายนิตยภัต ปัจจัยสี่แก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรเป็นประจำ  รวมถึงพระสงฆ์ที่อาพาธหรือพิการตาบอด ทรงโปรดที่จะจัดบวชนาคหลวง นาคช่วย หรือแม้แต่คนที่ตกทุกข์ได้ยาก เพื่อสร้างศาสนทายาทและก็เป็นที่นิยมในสมัยนั้น  ด้านการเผยแพร่พระศาสนาทรงโปรดให้ส่งสมณทูตไปลังกา   เขมร  เพื่อนำเอาพระไตรปิฎกฉบับลังกามาเปรียบเทียบของไทยมีการปรับปรุงให้สมบูรณ์มากขึ้นและทรงโปรดให้แปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทยโดยเฉพาะพระสูตรเพื่อใช้เทศน์สั่งสอน  มีการส่งเสริมให้เรียนพระไตรปิฎกจนมีภิกษุสามเณรเป็นเปรียญเป็นจำนวนมาก   บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม   ทั้งที่สร้างในสมัยรัชกาลที่     ไม่เสร็จก็ทรงดำเนินการสร้างต่อและสร้างใหม่   บูรณะใหม่เป็นจำนวนมาก   วัดที่ทรงก่อสร้างใหม่   เช่น  วัดเทพธิดาราม   วัดเฉลิมพระเกียรติ    วัดราชนัดดาราม    ส่วนวัดที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ที่เป็นวัดเก่าก็มีเป็นจำนวนมาก  เช่น   วัดราชโอรสาราม   วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม   วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น   

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาก่อให้เกิดศิลปกรรมต่างๆ  มากมาย   ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย   ทั้งด้านจิตรกรรม   ภาพวาด   ประติมากรรม   สถาปัตยกรรม    วรรณกรรม   ต่างๆ   มากมาย   การสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ   อีกทั้งการสร้างรูปเหมือน   การสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนามากมายและที่สำคัญ  ทรงมีความนิยมการสร้างวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบจีนเห็นได้จากวัดราชโอรสาราม   เป็นต้น อีกทั้งให้มีการจารึกตำราวิชาแขนงต่าง ๆ ตามวัดที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ที่เด่นชัดที่สุดคือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  และยังมีอิทธิพลส่งผลให้ขุนนางข้าราชการ และบุคคลทั่วไปสร้างวัดตามแบบราชนิยมนั้นด้วย    ทางด้านเศรษกิจนั้นพระองค์มีความชำนาญตั้งแต่ยังทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  และยังทรงเก็บออมเงินไว้   เรียกว่า  เงินถุงแดงและได้ใช้ประโยชน์ในรัชกาลต่อมา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอด ๒๗ ปีแห่งการคลองราชสมบัติ ทำให้ศาสนวัตถุ  ศาสนธรรม  ศาสนบุคคล ได้รับการอุปถัมภ์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มีอิทธิพลต่อพระองค์จนมีผลสืบเนื่องปรากฏให้เห็นถึงเอกลักษณ์ตามพระราชนิยม มาจนถึงปัจจุบัน  ตลอดจนถึงการที่พระองค์ได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปใช้ในการปกครอง กฎหมายทำให้ประเทศไทยมีการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศต่างๆ มากขึ้นจึงเป็นผลดีเกิดความเจริญรุ่งเรืองประเทศไทย

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕