หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระทรัพย์ชู มหาวีโร (บุญพิฬา)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๘ ครั้ง
การศึกษาวิธีการเจริญสติในชีวิตประจำวันตามแนวทางของ ติช นัท ฮันห์ (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระทรัพย์ชู มหาวีโร (บุญพิฬา) ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีรัตนดิลก ดร.
  พระมหาวีระพันธ์ ชุติปญฺโญ
  นางสาวลัดดา วิวัฒน์สุระเวช
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีการเจริญสติในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา  เพื่อศึกษาแนวคิด วิธีการเจริญสติในชีวิตประจำวันตามแนวทางของ ติช นัท ฮันห์   และเพื่อศึกษาผลของการเจริญสติตามแนวทางของติช นัท ฮันห์  กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต   โดยการศึกษาแบบผสมผสาน ทั้งในเชิงเอกสาร และการวิจัยภาคสนาม

 

จากการวิจัยพบว่า  การเจริญสติในทางพระพุทธศาสนา  คือ  การฝึกเจริญสติปัฏฐาน ๔  ได้แก่  การมีสติพิจารณาในกาย เวทนา  จิต  และสภาวธรรม  โดยเฉพาะการเจริญอานาปานสติ  อันเป็นหลักปฏิบัติที่ส่งผลให้ผู้ที่ฝึกปฏิบัติดีแล้วได้รับความสุขสงบทั้งทางร่างกายและจิตใจ   จนเกิดเป็นสัมมาสมาธิ  และปัญญา  สามารถกำจัดทุกข์  และบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างแท้จริง 

 

ในทัศนะของ ติช นัท ฮันห์  สติเป็นหัวใจแห่งคำสอนในทางพระพุทธศาสนา  หลักในการเจริญสติตามแนวทางของท่าน  เน้นการฝึกเจริญอานาปานสติควบคู่ไปกับการฝึกเจริญสติปัฏฐาน ๔  ตามกระบวนการของไตรสิกขา  คือ  ฝึกให้มีสติ  ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันขณะอย่างต่อเนื่องจนทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติเกิดสมาธิ (สมถะ)  และเกิดปัญญา (วิปัสสนา) ทำให้มองเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง  และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต

 

นอกจากนั้นยังพบว่า ติช นัท ฮันห์  มีองค์ความรู้ในพุทธธรรมอย่างลุ่มลึกทั้งทางฝ่ายเถรวาทและมหายาน   และเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  ทำให้ท่านมีแนวคิดและคำสอนที่โดดเด่นเข้ากับยุคสมัย  โดยเน้นที่การนำพระพุทธศาสนาเข้ามาประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิต  ส่วนรูปแบบและวิธีการเจริญสติมีทั้งการฝึกปฏิบัติในอิริยาบถหลัก   และการฝึกปฏิบัติกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน   โดยมีกุศโลบายที่หลากหลาย  เพื่อช่วยให้การฝึกปฏิบัติเป็นไปอย่างผ่อนคลาย  เบิกบาน  และทำให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้ง่ายขึ้น  ส่วนผลของการเจริญสติตามแนวทางของ ติช นัท ฮันห์  พบว่าทำให้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นทั้งทางด้านร่างกาย  วาจา  และจิตใจ  ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่สังคมอีกด้วย

downlond

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕