หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » แม่ชีสุดา โรจนอุทัย
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๗ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์ปัจจุบันขณะในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : แม่ชีสุดา โรจนอุทัย ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น), ดร.
  ดร. ศศิวรรณ กำลังสินเสริม
  อาจารย์รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ความหมายและคำสอน เรื่องปัจจุบันขณะที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่สัมพันธ์และเป็นปฏิปักษ์กับปัจจุบันขณะ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัจจุบันขณะกับการปฏิบัติตามหลักภาวนา ๔

                      จากการศึกษาพบว่า คำว่า ปัจจุบันขณะ ปรากฏในคัมภีร์อภิธรรมปิฎก มีพระสัพพัญญูพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงพิจารณาเห็นถึงปัจจุบันขณะได้ ส่วนปัจจุบันขณะที่ใช้ในปัจจุบันนี้ คืออัทธาปัจจุบัน ที่แสดงในพระสุตตันตปิฎก อันหมายถึง ขณะแห่งกาลเวลาที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ด้วยปัญญา ไม่ย้อนคิดถึงอดีตและคำนึงถึงอนาคต อยู่กับปัจจุบันขณะ ในการรับรู้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญา ตามหลักสติปัฏฐานสี่ กาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อความสุขในปัจจุบันขณะต่อการดำเนินชีวิตและสู่เป้าหมายสูงสุดต่อการบรรลุถึงความเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง โดยแยกคำสอนออกเป็น ๔ ด้าน คือ ด้านศีลหรือพฤติกรรม ด้านจิต ด้านปัญญา และด้านสังคม

                      อาตาปี (ความเพียร) สติ (ความระลึกรู้) และสัมปชัญญะ (ปัญญา) เป็นหลักธรรมที่มีความสัมพันธ์กับปัจจุบันขณะ เป็นกระบวนการปฏิบัติที่สอดคล้องกันเพื่อให้ปัจจุบันขณะเกิดขึ้นและตั้งมั่นในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีจิตเป็นผู้นำและเป็นการทำงานร่วมกันของกายและจิต (รูปและนาม) การอยู่กับปัจจุบันขณะจึงเป็นการเผชิญกับความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงปรากฏเกิดขึ้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ และเมื่อนิวรณ์ธรรม อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน เป็นอุปสรรคต่อปัจจุบันขณะเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ย่อมทำให้ปัจจุบันขณะไม่สามารถดำรงอยู่ได้

                วิธีปฏิบัติต่อปัจจุบันขณะตามหลักการของภาวนา ๔ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น ๔ ด้าน คือ ด้านกายภาวนา ศีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา เพื่อการวัดผลในด้านต่างๆ ของการพัฒนามนุษย์นั้นแสดงให้เห็นว่า มนุษย์สามารถพัฒนาจากขั้นพื้นฐานคือ มีศีลเป็นพื้นฐานของปุถุชนในการดำเนินชีวิต  ทำให้มนุษย์มีศักยภาพที่มีประสิทธิภาพ อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบเรียบร้อยในทางโลกียะ   ส่วนในทางโลกุตระนั้น   มุ่งสู่ความเป็นอิสระเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน แสดงให้เห็นว่าสามารถพัฒนาจากปุถุชนสู่อริยบุคคลได้ในที่สุด

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕