หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปริยัติคณานุรักษ์ (พงษ์สันติ์ ศรีสมงาม)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๒ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบบารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปริยัติคณานุรักษ์ (พงษ์สันติ์ ศรีสมงาม) ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาเสรี พุทฺธรกฺขิโต
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธวัศชา เดชสุภา
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้    มีวัตถุประสงค์เพี่อศึกษา  (๑)  บารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาท  (๒) บารมีในพระพุทธศาสนามหายาน และ (๓) เปรียบเทียบบารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาทและบารมีในพระพุทธศาสนามหายาน ผลจากการศึกษาพบว่า

บารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาท   มีความหมายหนึ่งคือ เป้าหมายของการปฏิบัติธรรม  อีกความหมายหนึ่งคือ  เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุด นั่นคือการหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์   มีข้อสังเกตถึงความหมายของบารมี ที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท   ดังนี้  (๑)  การบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ (๒)  ระดับขั้นของบารมีคือ  บารมี  อุปบารมีและปรมัตถบารมี              (๓) ระยะเวลาในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์  เมื่อเริ่มต้นได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน  คือ สี่อสงไขยแสนกัป และ (๔) ความเต็มเปี่ยมของบารมีนั้น  ยังมีขอบเขตในแต่ละการบรรลุธรรมด้วย กล่าวคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องมีความเต็มเปี่ยมของบารมีในขอบเขตที่มากกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า และลดหลั่นลงมาตามลำดับจนถึงระดับอริยบุคคลคือ  พระโสดาบัน

บารมีในพระพุทธศาสนามหายาน มีจุดมุ่งหมายหลักอันเบี่ยงไปจากความปรารถนาพระโพธิสัตว์ ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ความปรารถนาพระโพธิสัตว์ก็คือ ความปรารถนาความสุขให้เกิดแก่สรรพสัตว์เพราะการหวังที่จะได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ คือ ความต้องการที่ช่วยเหลือสัตว์ทั้งปวงให้พ้นจากทุกข์อันเป็นทุกข์ประจำ   คือ  ชาติ  ชรา  มรณะ   อย่างถูกวิธี แต่ทั้งนี้พระโพธิสัตว์มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองพัฒนาตัวเองให้สามารถเป็นที่พึ่งของตัวเองได้เสียก่อน จึงจะสามารถแนะนำหรือช่วยเหลือผู้อื่นได้ อุปมาเหมือนบุคคลจะช่วยเหลือผู้อื่นขึ้นจากตมได้นั้น จะต้องช่วยเหลือตัวเองให้พ้นจากตมนั้นเสียก่อน ฉะนั้น พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีธรรมทั้งหลายด้วยมีความปรารถนาพระโพธิญาณเป็นเหตุปรารภทำให้พระโพธิสัตว์มีความมุ่งมั่นจริงใจต่อวัตรปฏิบัติในบารมี ในขณะเดียวกันบารมีธรรมทั้งหลายก็เป็นเหตุแห่งความสัมฤทธิ์ คือ การบรรลุพระโพธิญาณ จึงกล่าวได้ว่า การบำเพ็ญบารมีธรรมกับความใคร่ปรารถนา ซึ่งพระโพธิญาณเป็นเหตุปัจจัยหนุนเนื่องแก่กันและกันให้เกิดขึ้น อนึ่งเมื่อกล่าวถึงจุดมุ่งหมายแห่งการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์แล้วจะเห็นได้ว่าย่อมเป็นไปเพื่อ   (๑) การตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระโพธิสัตว์เองก่อน  (๒) การรื้อขนปวงชนทั้งหลายทั้งปวงออกไปจากห้วงทุกข์ระทมแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

ในพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น  พระโพธิสัตว์ หมายถึง  ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต แต่ในพระพุทธศาสนาเถรวาทมหายานได้พัฒนาไปอีกแบบหนึ่ง  กล่าวคือ ศาสนิกทุกคนควรตั้งโพธิจิต เพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ อุดมคติพระโพธิสัตว์ในฐานะระบบจริยธรรม   ที่เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต   ซึ่งปัจเจกชนสามารถดับทุกข์ได้ด้วยความเพียรของตนเอง  ถูกแทนที่ด้วยระบบจริยธรรมที่ต้องพึ่งพิงสิ่งภายนอกช่วยเหลือให้พ้นทุกข์แทน  นอกจากนั้น  มหายานยังเห็นต่อไปอีกว่า  พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีแก่กล้า  สมควรที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้แล้ว  อาจจะไม่ยอมตรัสรู้และยินดีเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อช่วยขนสรรพสัตว์จากกองทุกข์ในวัฏฏสงสารต่อไป  สรรพสัตว์ทั้งปวงแม้จะมีพุทธภาวะในตน  แต่ก็ใช่ทั้งหมดที่จะสามารถช่วยตนเองได้  จึงต้องอาศัยการช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์จึงจะสามารถดำรงตนอยู่ได้และก้าวหน้าในธรรมขั้นสูงต่อ ๆ ไป

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕