หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายอมรเทพ หวังแก้ว
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของอาริสโตเติลกับพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นายอมรเทพ หวังแก้ว ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ,ผศ.,ดร.
  ผศ.ดร.ประเวศ อินทองปาน
  ผศ. ชำนะ พาซื่อ
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

จากการศึกษาเปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของอาริสโตเติลและ                     พระพรหมคุณาภรณ์  (ป.อ.  ปยุตฺโต)  พบว่า  จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์คือ  ความสุข      พระพรหมคุณาภรณ์ให้ความสำคัญกับสภาวะที่เรียกว่า  นิพพาน  ซึ่งเป็นสภาวะที่หลุดพ้น     จากกิเลส  เกิดจากความสงบในจิตใจของบุคคลที่เข้าถึงสภาวะนั้น  บุคคลใดที่สามารถเข้าถึงสภาพความสุขแบบนี้เรียกว่า  อริยบุคคล  แต่ความสุขในทรรศนะของอาริสโตเติลนั้นเรียกว่า  “Eudaimonia”  ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำตามหน้าที่อย่างสมบูรณ์ซึ่งบุคคลนั้นสามารถรับรู้ได้ด้วยตนเอง  บุคคลใดที่สามารถเข้าถึงความสุขลักษณะนี้ได้เรียกว่าเป็นผู้มีความสุขแบบเทพมี

                  ผู้ที่จะเข้าถึงความสุขสูงสุดนั้นได้จะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในคุณธรรมศีลธรรม  ซึ่งแสดงถึงคุณลักษณะอุปนิสัยที่ดี  คุณธรรม  ศีลธรรม  ของอาริสโตเติลและ            พระพรหมคุณาภรณ์จึงมีลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน  แต่มีบางทรรศนะที่มีลักษณะที่ต่างกันนั่นคือ  อาริสโตเติลกล่าวว่าทุกคนจะมีคุณธรรมที่สมบูรณ์ได้นั้นจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ถูกต้อง  ในทรรศนะของพระพรหมคุณาภรณ์กล่าวว่าทุกคนจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   มีความรักความเมตตาต่อกันทุก  ๆ คนจะต้องไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

                  นักปราชญ์ทั้ง    ท่านมีทรรศนะเกี่ยวกับคุณค่าทางจริยธรรมทั้งการกระทำดีและการกระทำชั่วทุก  ๆ การกระทำมีคุณค่าอยู่ในตัวการกระทำนั้นทั้งสิ้น  เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมที่ดูจากการกระทำ  อาริสโตเติลและพระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่าการกระทำต่าง  ๆ เกิดจากการเลือก  การพิจารณาและความรับผิดชอบมนุษย์สามารถควบคุมการกระทำต่าง  ๆ ได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

            ดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นองค์ประกอบของเกณฑ์ตัดสินจริยธรรม  ในเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตามทรรศนะอาริสโตเติลยึดหลักความจงใจและความไม่จงใจเป็นเกณฑ์ใน             การตัดสินการกระทำดี  ชั่ว  การกระทำใดที่เกิดจากการไม่จงใจหรือกระทำโดยความโง่เขลา    การกระทำนั้นก็สมควรที่จะให้อภัย  แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดจากความจงใจ   ถือว่าเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยปัญญาและเหตุผลก็สามารตัดสินได้ตามหลักมัชฌิม  อนึ่งตามทรรศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ถือเอาเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมโดยเน้นที่เจตนาเป็นสำคัญ  โดยยึดเกณฑ์หลัก  คือ  เจตนาที่เป็นกุศลและอกุศล  เกณฑ์รอง  คือ  ให้วิญญูชนพิจารณาการกระทำนั้นว่าเป็นที่ยอมรับหรือไม่

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕