หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นาย วัฒนา พลชาติ
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๕ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์วิธีการพัฒนาปัญญาตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นาย วัฒนา พลชาติ ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโ) รศ.ดร.
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิธีการพัฒนาปัญญาในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีจุดมุ่งหมายเพื่อความรู้แจ้งในสรรพสิ่ง  ที่เรียกว่าเป็นโลกุตตรปัญญา  จากปัญญาของปุถุชนสามารถพัฒนาได้โดยอาศัยกัลยาณมิตรซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกเพื่อก่อให้เกิดศรัทธา  รวมกับปัจจัยภายในที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการเกิดสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบขึ้นเป็นปัญญาในขั้นแรก  โดยสัมมาทิฏฐินี้จะอบรมให้บุคคลมีความระมัดระวังในเรื่องของศีล  สมาธิ  ปัญญาและองค์ประกอบแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามลำดับ  จนสามารถพัฒนาจากโลกิยปัญญาเป็นโลกุตตรปัญญาได้

วิธีการพัฒนาปัญญาตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)นั้น  เป็นไปในแนวทางเดียวกับวิธีการพัฒนาปัญญาในพระพุทธศาสนาเถรวาท  แต่ต่างกันตรงวิธีการนำเสนอและการอธิบายอย่างละเอียดเพื่อให้เกิดภาพพจน์ขึ้น   โดยแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาปัญญาต้องใช้คนเป็นแกนกลางปัญญาจะเริ่มต้นก็ต่อเมื่อคนเริ่มมีการศึกษา  คือ  หลักการพัฒนา ๓ ด้าน  ด้วยการฝึกให้มีพฤติกรรมร่วมที่ดีงาม  เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเอื้อต่อการพัฒนาจิตและปัญญา  โดยมีหลักย่อย ๘ อย่าง  โดยฝึกความสุจริตทางกาย  ทางวาจา  และการประกอบสัมมาชีพ  เป็นพื้นฐาน  ทำการฝึกอบรมจิตให้ประณีต  มีคุณภาพ มีสุขภาพจิตที่ดี  เรียกว่า  สมาธิ  และด้วยจิตใจที่ดีนั้นสามารถฝึกและอบรมบุคคลให้เกิดการพัฒนาทางด้านปัญญา โดยอาศัยการช่วยเหลือและประคับประคองจากสภาพแวดล้อมที่ดีคือกัลยาณมิตรและปัจจัยฝ่ายปัญญาคือโยนิโสมนสิการ  ไปตลอดระยะเวลาแห่งการฝึกฝน  จนกว่าจะเป็นอริยบุคคล

แนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ได้แก่การพัฒนากาย  ผู้มีปัญญาจะมีวิธีในการดำเนินชีวิตด้วยหลักของโภชเนมัตตัญญุตา หรือเรียกว่ารู้จักประมาณในการบริโภค  ทำให้เกิดอินทรีย์สังวรคือความสำรวมระวังในการใช้อินทรีย์  อันได้แก่ ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กายและใจ  จึงส่งผลทำให้พฤติกรรมได้รับการพัฒนา  จากสภาพภายในที่ดีการแสดงก็จะเป็นพฤติกรรมที่ดีโดยเฉพาะในเรื่องของศีล  ผู้มีศีลจะเป็นผู้ที่มีความสุขทำให้การดำเนินชีวิตราบรื่น  ร่มเย็น  เป็นผู้มีความเมตตา  กรุณา  ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  ไม่กระทำการที่เป็นการเบียดเบียนผู้ใด  มีความสงบ  ผ่องใสเกิดขึ้นในจิตใจ    ทำให้คุณภาพของจิตเกิดการพัฒนาขึ้น  จิตจะมีความคล่องตัว  คล่องแคล่ว  ว่องไวหรือเรียกว่า  จิตควรแก่การงาน  มีสติสัมปชัญญะในการดำเนินชีวิต  โดยจะส่งผลให้เกิดความคิดที่เป็นระบบขึ้น  คือการคิดอย่างมีเหตุผล  รู้จักใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาหรือขจัดความทุกข์ที่เกิดขึ้น  มีความเข้าใจและยอมรับถึงสรรพสิ่งที่เปลี่ยนแปรไปตามสภาพของโลก  เรียกว่าเป็นผู้ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต  ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวิธีการของพระพุทธศาสนา  โดยจะส่งผลให้บุคคลผู้หมั่นฝึกฝนตนเองนั้น  มีความเป็นอยู่มีชีวิตที่ดีงาม  และผู้มีปัญญาย่อมเรียนรู้ที่จะพัฒนาฝึกฝนตนเองให้ถึงเป้าหมายสูงสุดคือความดับทุกข์ได้

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕