หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาณัฐวุฒิ ถิรธมฺโม (รอดวงค์ศา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์การสงเคราะห์ระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักรที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา : กรณีศึกษาพระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระพุทธศาสนา (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาณัฐวุฒิ ถิรธมฺโม (รอดวงค์ศา) ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีรัตนดิลก (จรรยา ชินวํโส ),ดร.
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  อาจารย์รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่องศึกษาวิเคราะห์การสงเคราะห์ระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักรที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา : กรณีศึกษา พระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระพุทธศาสนานี้ ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์ของการวิจัยไว้ ๓ ประการ คือ  ๑) เพื่อศึกษาความหมายและความสัมพันธ์ระหว่าง ศาสนจักรกับอาณาจักร ๒) เพื่อศึกษาวิธีการสงเคราะห์ระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร
๓) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการสงเคราะห์ระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร

 จากการวิจัยพบว่า ศาสนจักร หมายถึงอำนาจปกครองทางศาสนาที่มีองค์ประกอบ ได้แก่ ศาสดา ศาสนธรรม ศาสนพิธี ศาสนบุคคล ศาสนสถาน และศาสนิกชน ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนผู้ใคร่ในความสงบทางจิตใจ ในทางพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่หลักธรรมคำสอนสู่ศาสนิกชน โดยมีจุดมุ่งหมายคือประโยชน์ที่จะได้รับตั้งแต่ขั้นต้นคือความสงบสุขของการอยู่ร่วมกัน จนถึงประโยชน์สูงสุดคือการเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่เลือกเพศ  ชนชั้น วรรณะ เชื้อชาติ หรือศาสนา ส่วนอาณาจักร หมายถึง การปกครองของรัฐหนึ่ง ๆ ซึ่งมีอำนาจในการปกครองทางบ้านเมืองที่มีส่วนประกอบ ๔ ประการ คือ ประชาชน ดินแดน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย โดยที่การปกครองไม่ว่าจะเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชหรืประชาธิปไตย หรือสามัคคีธรรม ล้วนมีเป้าหมายคือความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ

ทั้งอาณาจักรและศาสนจักรล้วนมีความสัมพันธ์เนื่องถึงกัน มีลักษณะสนับสนุนส่งเสริม โดยมีวัตถุประสงค์คือการนำสันติสุขมาสู่สังคม เพื่อให้สมาชิกในสังคมดำรงชีวิต
อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข สอนประชาชนให้มีศีลธรรม จริยธรรม รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่
ของตนเพื่อช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้อยู่ในสังคม

วิธีการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักรนี้ พอสรุปได้ว่า ทางฝ่ายศาสนจักร พระพุทธเจ้าทรงสงเคราะห์พระเจ้าปเสนทิโกศลตลอดจนชาวแคว้นโกศลทุกคนด้วยการชี้ให้เห็นโทษแล้วแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ คือตั้งแต่ประโยชน์เบื้องต้นไปจนถึงประโยชน์ขั้นสูงสุด และต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทด้วย ส่วนวิธีการสงเคราะห์ที่ทางฝ่ายอาณาจักรกระทำต่อพระพุทธศาสนานั้นคือ พระเจ้าปเสนทิโกศลให้ความเคารพศรัทธา เลื่อมใส นำเอาหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติตาม ตลอดจนการให้ความอุปถัมภ์บำรุงดูแล ให้ความสะดวกทั้งในเรื่องปัจจัย ๔ ที่จำเป็น และการคุ้มครองป้องกันภัยเท่าที่ทำได้ เช่น การคอยช่วยสอดส่องดูแลความประพฤติของภิกษุ ภิกษุณี เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายอันจะเป็นผลเสียหายต่อ        พระศาสนาเอง

ในส่วนของผลสัมฤทธิ์ของการสงเคราะห์ระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักรนั้นล้วนเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สุขของกันและกัน โดยที่ต่างคนต่างให้ และต่างคนก็ต่างได้รับผลของการให้ เช่น พระพุทธศาสนาได้รับความสะดวกด้วยปัจจัยสี่จากทางอาณาจักร เช่น ได้ปัจจัยเครื่องนุ่งห่ม ได้อาหารบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ได้ถาวรวัตถุ ที่อยู่อาศัย ได้ยารักษาโรค อีกทั้งยังได้อุบาสกอุบาสิกาช่วยทำนุบำรุงพระศาสนา ได้รับความสนิทสนมคุ้นเคยจากชนต่างๆ  ทำให้สามารถประกาศ      พระศาสนาได้อย่างสะดวกมากขึ้น

ในส่วนของอาณาจักรก็ได้รับผลจากการเข้ามาของพระศาสนาอย่างมากมาย เช่น
ได้มีกัลยาณชน มีผู้คนที่มีศีล ทรงธรรมในแคว้นตนมากขึ้น ทำให้ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่ก่อปัญหาขึ้นทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข เมื่อบ้านเมืองเกิดความสงบสุข ไม่มีปัญหา พระราชาก็สบายใจ ราชบัลลังก์ก็เข้มแข็งเพราะได้คนดีมาช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาแทนพระราชา ช่วยเป็นหูเป็นตาแทนบ้านเมือง.

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕