หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสุมณฑ์ธรรมธาดา (สายัน บวบขม)
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๐ ครั้ง
ศึกษาปัญหาและทางออกของการดื่มสุราที่มีผลกระทบต่อสังคมไทย (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสุมณฑ์ธรรมธาดา (สายัน บวบขม) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสิริรัตนานุวัตร, ผศ.ดร.
  พระมหาวรัญญู วรญฺญู, ดร.
  อาจารย์กฤต ศรียะอาจ
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  ๑) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการดื่มสุราในสังคมไทย ๒)  เพื่อศึกษาผลกระทบของการดื่มสุราต่อสังคมไทย ๓)  เพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาการดื่มสุราตามหลักพระพุทธศาสนา การวิจัยนี้ พบว่า

 ๑. สภาพและปัญหาการดื่มสุราในสังคมไทย  ก่อให้เกิดปัญหาลูกโซ่ที่เกี่ยวโยงกันไปหมดแทบทุกเรื่อง  ทั้งความฟุ้งเฟ้อ  ความยากจน  ครอบครัวแตกแยกมีปัญหา  ก่อให้เกิดอาชญากรรมต่างๆ  อุบัติเหตุ  โรคภัยสารพัดรุมเร้า  การสูญเสียทรัพยากรบุคคล  และสูญเสียทางเศรษฐกิจของสังคมไทยโดยรวม  ๒. มี ผลกระทบของการดื่มสุราต่อสังคมไทย  ทำให้เกิดความเชื่อผิดคิดว่าการดื่มสุราเป็นวัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่แทรกซึมอยู่ในทัศนคติ จนทำให้ผู้คนในสังคมมองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ แม้แต้งานบุญก็ยังไม่เว้นการดื่มด้วยเช่นกัน การดื่มสุรากลับทำให้ผู้ดื่มขาดสติ  ขาดความยับยั้งชั่งใจ  และกระทำความรุนแรง อันเป็นปัญหาของสังคม  ๓. การหาทางออกในการแก้ปัญหาการดื่มสุราตามหลักพุทธธรรม  การนำหลักพุทธธรรมเพื่อแก้ปัญหาการดื่มสุราในสังคมไทย ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาในประเด็นปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคลของผู้ดื่มสุรา  สุขภาพจิตสุขภาพชีวิตสมาชิกในครอบครัวและญาติพี่น้อง ตลอดถึงปัญหาสังคมได้ คือ 

๑. ในการหาทางออกจากปัญหาการดื่มสุราเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพส่วนบุคคลนั้นการใช้ ๓ ประการ คือ  (๑) อบายมุข ๖ (๒) เบญจศีล   และ(๓)สติสัมปชัญญะ

๒.  หลักพุทธธรรมที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตและชีวิตบุคคลในครอบครัวมี ๒ ประการ  คือ  (๑) หลักฆราวาสธรรม (๒) หลักสิงคาลกสูตร  หลักพุทธธรรมทั้ง ๒ ประการนี้สามารถประสานครอบครัวให้เกิดความอบอุ่น

๓. หลักพุทธธรรมที่เกี่ยวการแก้ปัญหาผลกระทบต่อสังคมโดยรวม มี ๓ กลุ่มคือ   (๑) ขันติ  โสรัจ  (๒)  เบญจธรรม  และ (๓) ทิฏฐธรรมมิกัตถธรรม

หลักพุทธธรรมดังกล่าวนั้น  ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมใจของคนที่เคยเกี่ยวข้องกับสุราแล้ว  ให้ละความต้องการที่จะดื่มสุรา  เป็นการส่งเสริมให้คนมีอนาคตที่ดี ด้วยการขยันหาทรัพย์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  รักษาทรัพย์ที่หามาได้เพื่อใช้จ่ายในคราจำเป็น  รู้จักคบคนดีเป็นเพื่อนเพื่อเขาจะได้แนะนำในสิ่งที่ดีๆ และเลี้ยงชีวิตของตนให้เหมาะกับความเป็นอยู่

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕