หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวสันต์ กิตฺติโสภโณ (สอนศรี)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์เรื่องความมีวินัยที่ปรากฏในมงคลสูตร (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวสันต์ กิตฺติโสภโณ (สอนศรี) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพปริยัติเมธี, ผศ. ดร.
  พระโสภณวราภรณ์,ดร.
  นายวัฒนะ กัลยณ์พัฒนกุล
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓  ประการ   คือ ๑.) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องความมีวินัยที่ปรากฏในมงคลสูตร   ๒.) เพื่อศึกษาอิทธิพลความคิดเรื่องความมีวินัยที่มีต่อสังคมไทย  ๓.) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้ความมีวินัยกับสังคมไทย   การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา  หนังสือมังคลัตถทีปนี ตำราทางวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง   ผลการศึกษาพบว่า

๑)  แนวคิดเรื่องความมีวินัยที่ปรากฏในมงคลสูตร   สรุปได้ว่า  ความมีวินัยนั้นเป็นอุบายเครื่องรักษาตน และหมู่คณะให้อยู่เป็นปกติสุขทั่วถึงกัน เป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ข้อบังคับสำหรับควบคุมความประพฤติทางกายของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขสบายไม่กระทบกระทั่งกัน และให้ห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย   วินัยที่ตนฝึกฝน รักษา ปฏิบัติ และศึกษาดีแล้ว ย่อมให้ประโยชน์ ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์   บรรพชิตผู้มีศีลบริสุทธิ์ย่อมได้รับความสุข มีใจมั่นคงแน่วแน่ อันจะเป็นฐานของสมาธิและปัญญา ในส่วนของคฤหัสถ์นั้นจะดีได้ เพราะกฎข้อบังคับ และระเบียบวินัย  ดังนั้น ผู้มีวินัยศึกษาดีแล้ว จึงเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามหลักของวินัยทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างถูกต้องไม่บกพร่องตกหล่นและอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อประโยชน์เฉพาะบุคคล เพื่อประโยชน์แก่มวลชนที่เคารพนับถือ  เพราะว่าเป็นหลักของการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต คือ   พระนิพพาน

๒) อิทธิพลความคิดเรื่องความมีวินัยที่มีต่อสังคมไทย จากการศึกษาพบว่า ความสำคัญของการมีวินัยมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นในด้านของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ถ้าไม่เข้าใจในความสำคัญของความมีวินัยที่มีต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาสังคมได้  ความมีระเบียบวินัย ถือว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาสังคมมนุษยชาติอีกประการหนึ่ง ในการแก้ปัญหาสังคมปัจจุบันตามหลักพุทธธรรม  หรือการใช้เสรีภาพตามหลักคุณธรรม  และจริยธรรมทางพุทธศาสนา  จึงเป็นหลักธรรมภาคปฏิบัติที่ทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงในโลกมนุษย์ได้

 ๓)   การประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องความมีวินัยตามแนวทางของมงคลสูตรกับสังคมไทยในส่วนนี้ จากการศึกษาพบว่า วินัยเป็นเครื่องฝึกฝนกายและใจให้มีคุณภาพขึ้น การมีคุณภาพจะทำให้ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง  สังคมมั่งคั่ง ชาติก็มั่นคง  วินัยช่วยถ่ายถอนความโหดเหี้ยม ดุร้ายของคน  วินัยช่วยให้คนดีกว่า ประเสริฐกว่าสัตว์และคนด้วยกัน   สังคมจะอยู่ได้โดยสงบก็ต่อเมื่อมีกฎเกณฑ์และ กติกาในสังคม และผู้คนในสังคมต้องให้ความเคารพหลักการ กฎเกณฑ์ และกติกาของสังคมนั้น ๆ   การควบคุมพฤติกรรมของพระสงฆ์  ต้องอาศัยวินัยสงฆ์ หรือ พระวินัยเป็นกฎหมายของพระภิกษุ เป็นเครื่องควบคุมความประพฤติ  การควบคุมพฤติกรรมของคฤหัสถ์ต้องปฏิบัติตนตามหลักวินัยหรือกฎระเบียบของสังคม กฎหมายบ้านเมือง ย่อมมีความราบเรียบสงบสุข โดยประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา การรักษาศีล การปฏิบัติธรรม ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างให้สังคมเกิดความร่มเย็นเป็นสุข

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕