หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาภัทร์ภูวไนย ภทฺทภูรี (ยิ้มเกิด)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๐ ครั้ง
ศึกษาบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ของพระราชปัญญาเวที (ริด ริตเวที) (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาภัทร์ภูวไนย ภทฺทภูรี (ยิ้มเกิด) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม
  พระโสภณวราภรณ์
  นางสาวพูลลาภ จันทร์เฉลิม
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาทฤษฎีตะวันตกที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ๒) เพื่อศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามพุทธวิธี และ ๓) เพื่อศึกษาบทบาทและการประยุกต์ใช้ทฤษฎีตะวันตกและพุทธวิธีในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของพระราชปัญญาเวที (ริด ริตเวที) การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร เก็บรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก หนังสือ เอกสารทางวิชาการ และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการออกแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview Form) จำนวน ๒ ชุด สำหรับสัมภาษณ์พระราชปัญญาเวที (ริด ริตเวที) และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (Content  analysis Technique) ตามโครงสร้างของแบบสัมภาษณ์ ประกอบการสังเกตของผู้วิจัย

 

ผลการวิจัยพบว่า

๑. ทฤษฎีตะวันตกที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ กรอบทฤษฎีหลักทั้ง ๓ ประการ  คือ ๑. ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ (Economic Theory) ๒.ทฤษฎีระบบ (System Theory). ทฤษฎีจิตวิทยา (Psychological Theory) ซึ่งกรอบทฤษฎีทั้ง ๓ นับได้ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกรอบทฤษฎีที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการเพิ่มพูนความสามารถ ความมีประสิทธิภาพ และความมั่นคงให้กับองค์การได้เป็นอย่างดี ซึ่งกระบวนต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การให้เป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างผลผลิต และความสำเร็จให้กับองค์การได้ในที่สุดนั้น องค์การต่าง ๆ จะต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปกับกิจกรรมหลักทั้ง ๓ ด้าน คือ ๑.การฝึกอบรม (Training) ๒.การศึกษา (Education) และ ๓.การพัฒนา (Development) นั่นเอง

              ๒. พระพุทธองค์ทรงวางหลักไตรสิกขาเป็นหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (พุทธบริษัท ๔) โดยทรงมองว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้ที่สามารถฝึกฝนได้ และมนุษย์เป็นศูนย์กลางแห่งการฝึกทุก ๆ ด้าน ซึ่งหลักการดังกล่าวของพระพุทธองค์ ได้แก่

              ๑) อธิศีลสิกขา หลักการฝึกความประพฤติสุจริต ทางกาย วาจา และอาชีวะ (หมายรวมเอาองค์มรรค คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ) เป็นเรื่องของการฝึกฝนในด้านพฤติกรรม โดยใช้ศีลเป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในขบวนการแห่งการศึกษา และการพัฒนามนุษย์

              ๒) อธิจิตตสิกขา หลักการฝึกปรือในด้านคุณภาพ และสมรรถภาพของจิต (หมายรวมเอาองค์ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ) สมาธิ เป็นส่วนของการฝึกฝนในด้าน

จิตใจ หรือ ยกระดับจิตใจให้เกิดการพัฒนาคุณสมบัติต่าง ๆ ในด้าน คุณธรรม กล่าวคือ ความมีจิตใจแน่วแน่มั่นคง มีสติ และสมาธิ

              ๓) อธิปัญญาสิกขา หลักการฝึกปรือปัญญาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงจนถึงขึ้นหลุดพ้น มีจิตใจเป็นอิสระผ่องใส เบิกบานโดยสมบูรณ์ (หมายรวมเอา สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ) ปัญญา

              ๓. บทบาทในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของพระราชปัญญาเวที สามารถสังเคราะห์เข้าในหลักการบริหารกิจการคณะทั้ง ๖ ด้าน ได้แก่ ด้านการปกครอง  ด้านการศาสนศึกษา ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่ ด้านการสาธารณูปการ และด้านการสาธารณสงเคราะห์ ที่โดดเด่น กล่าวคือ การมีวิสัยทัศน์และการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งนับได้ว่าการปฏิบัติงานในแต่ละด้านดังกล่าวของพระราชปัญญาเวที มีส่วนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสังคมที่สำคัญอีกแรงหนึ่ง รวมทั้งยังมีรูปแบบในการปฏิบัติงานที่สามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับหลักทฤษฎีตะวันตกและหลักพุทธวิธี กล่าวคือ พระราชปัญญาเวทีได้ใช้หลักในการบริหารจัดการองค์กรในรูปแบบของระบบเปิด และการมีความพยายามที่จะสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้นั่นเอง

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕