หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวุฒิกรณ์ วุฑฺฒิกรโณ (พรมพิมพ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๗ ครั้ง
ศึกษาเทคนิคและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระราชวรมุนี(ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (๒๕๔๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระวุฒิกรณ์ วุฑฺฒิกรโณ (พรมพิมพ์) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุวรรณ สุวณฺณสิริ
  รศ.บำรุง สุขพรรณ์
  ดร.พจนพันธ์ สุโพธิ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๓
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาเทคนิคและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของพระราชวรมุนีในฐานะผู้ส่งสาร และศึกษาเทคนิคและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระราชวรมุนี รวมทั้งทัศนคติและความพึงพอใจของพระภิกษุสามเณรที่มีต่อเนื้อหาและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระราชวรมุนี  ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary  Research) และวิจัยเชิงสำรวจ  (Survey  Research)  โดยใช้ตัวอย่างแบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระนิสิตระดับปริญญาตรี -โท ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระภิกษุสามเณรที่เข้าอบรมโครงการ อบรมพระนักเทศก์  ที่องค์การเผยแผ่วัดประยุรวงศาวาสแล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงสถิติ  โดยใช้ค่าสถิติพื้นฐาน  ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) และค่าเฉลี่ย (Mean) และใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS  ช่วยในการประมวลผลทุกขั้นตอน

          จากการศึกษาพบว่า  เนื้อหาพุทธธรรมของพระราชวรมุนีมีจุดเด่น   คือ มีเนื้อเรื่องบรรยายธรรมเป็นลำดับชั้น  เป็นขั้นตอน  แต่ละประเด็นจะมีความรู้ใหม่ ๆ ให้ขบคิดอยู่เสมอ โดยใช้ภาษาร่วมสมัย  ฟังเข้าใจง่าย  อธิบายพุทธธรรมได้ลุ่มลึก ชัดเจน  โดยสามารถสรุปประเภทเนื้อหาของพุทธธรรมที่ท่านนำเสนอได้ ๔ ประเภท ดังนี้ คือ

          ๑. เนื้อหาประเภทพัฒนาจิตใจเพื่อชีวิตที่ดีงาม

          ๒. เนื้อหาประเภทบูรณาการและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

          ๓. เนื้อหาประเภทพระธรรมเทศนา

          ๔. เนื้อหาประเภทวิชาการ

          จากการศึกษาวิจัยหนังสือและผลงานของพระราชวรมุนีจำนวน ๔๒ เรื่องพบว่าพระ ราชวรมุนี (ประยูร  ธมฺมจิตฺโต) มีเทคนิคและวิธีการเผยแผ่หรือนำเสนอพุทธธรรมที่เด่นชัด ๖ วิธี คือ

          ๑. การนำเสนอโดยการยกอุทาหรณ์และการเล่านิทานประกอบ

          ๒. นำเสนอโดยวิธีการยกอุปมาเปรียบเทียบ

          ๓. นำเสนอโดยวิธีการยกพุทธศาสนสุภาษิต  สุภาษิต ปรัชญา คำคม โคลง บท
              ประพันธ์  และบทกลอน  เป็นต้น

          ๔. นำเสนอโดยวิธีการพูดเชื่อมโยงเรื่องราวหรือเหตุการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ

          ๕. นำเสนอโดยวิธีการยกบุคคลตัวอย่างประกอบการบรรยาย

          ๖. นำเสนอโดยวิธีการแทรกด้วยเรื่องที่ทำให้เกิดอารมณ์ขัน

          ผลการสำรวจทัศนคติของพระภิกษุสามเณรทั้งสองกลุ่มที่มีต่อการเผยแผ่พุทธธรรมของพระราชวรมุนี  ปรากฎว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งและเห็นด้วยต่อ  บุคลิกลักษณะ เนื้อหาพุทธธรรม  และเทคนิควิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระราชวรมุนีที่นำเสนอ และมีความพอใจอยู่ในระดับดีมากต่อการเผยแผ่พุทธธรรมของพระราชวรมุนีในปัจจุบัน  หนังสือสองเรื่องที่พระภิกษุสามเณรทั้งสองกลุ่มอ่านมากกว่าครึ่งคือเรื่องปลุกปลอบใจในยามวิกฤต  และพระพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัฒน์   ข้อเสนอแนะของพระภิกษุสามเณรทั้งสองกลุ่มคือต้องการให้พระราชวรมุนีนำเสนอพุทธธรรมตามสาธารณชนหรือตามสื่อต่าง ๆ ให้บ่อยและมากกว่าปัจจุบันนี้
 

Download : 254313.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕