หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กาญจนา จิตต์วัฒน
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๕ ครั้ง
การบูรณาการการเตรียมตัวตายในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับวัชรยาน (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กาญจนา จิตต์วัฒน ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา), ดร.
  ผศ. ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด  ความหมาย  และคุณค่าของชีวิตและความตายในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการเตรียมตัวตายและกระบวนการตายในพระพุทธศาสนาเถรวาทและวัชรยานแบบทิเบต ๓) เพื่อศึกษาการบูรณาการการเตรียมตัวตายในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับวัชรยาน

ผลการวิจัยพบว่า  ฐานของความคิดเรื่องการเตรียมตัวตาย มีมาแต่ดั้งเดิม  คือเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นเทวทูตทั้ง ๔ มาปรากฏในรูปของคนชรา  คนเจ็บ  คนตาย  และบรรพชิต  เมื่อทรงเห็นสิ่งเหล่านี้แล้ว  พระองค์ได้แสวงหาทางเพื่อพ้นจากความตาย  จนกระทั่งได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ จากนั้นพระองค์ได้ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ไม่ให้ประมาทในชีวิต  ด้วยการทำประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่น อันเป็นการเตรียมตัวก่อนตายอย่างมีสติ  พระพุทธศาสนามีหลักการอันเป็นแก่นแท้  คือ การสอนให้พุทธศาสนิกเข้าใจอริยสัจ ๔ ดังนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงเน้นการสอนให้มนุษย์ตระหนักรู้ในทุกข์  และความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตที่ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้  คนเราจึงควรต้องเรียนรู้พุทธธรรม เพื่อการเตรียมตัวตาย  และต้องเตรียมชีวิตให้ก้าวข้ามพ้นทุกข์  อันมีเหตุมาจากอวิชชา  โดยเริ่มเรียนรู้ไตรสิกขาซึ่งทำได้ด้วยการอบรมตนเองให้ประพฤติมั่นคงอยู่ในศีลบริสุทธิ์  ฝึกจิตให้มีสัมมาสมาธิ  ด้วยศีลที่บริสุทธิ์และสมาธิที่ตั้งมั่นจะ   บ่มเพาะให้การภาวนาเจริญขึ้นจนกระทั่งเกิดปัญญามีความเห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง  พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้พุทธสาวกเข้าใจ เรื่องความตายกับปฏิจจสมุปบาท และสังสารวัฏ  คำสอนที่สำคัญที่สุดคือ  ความไม่ประมาทตลอดเวลาที่ใช้ชีวิต  โดยการเจริญมรณสติ  พิจารณาความตาย  อย่างรู้เท่าทันความจริงของชีวิต  และประพฤติดีปฏิบัติชอบตั้งแต่ก่อนตายไปจนถึงขณะกำลังตาย  เพราะทั้งกรรมดีและกรรมชั่วจะส่งผลให้ภายหลังตาย 

พระพุทธศาสนาวัชรยานมีสาระอันเป็นแก่นแท้  คือการสอนให้พุทธศาสนิกตระหนักรู้ในชีวิต และความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต ที่ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้  จึงควรต้องเรียนรู้พุทธธรรม เพื่อเข้าใจความหมายและคุณค่าของชีวิต  กระบวนการตาย  และการเตรียมตัวตาย  โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาวัชรยาน  ก็เช่นเดียวกับเถรวาทคือเน้นการสอนให้มนุษย์เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมและหลักปฏิจจสมุปบาท  ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย  จึงทำให้มีเกิด  แก่  เจ็บ  และตายซึ่งล้วนเป็นทุกข์จึงต้องเตรียมชีวิตให้ก้าวข้ามพ้นทุกข์  อันมีเหตุมาจากอวิชชา   ชาวพุทธวัชรยานตระหนักว่าในชาตินี้ มีโอกาสได้ร่างมนุษย์อันประเสริฐ จึงต้องใช้ร่างกายนี้ปฏิบัติตามเจตนาที่ดีอย่างสุดหัวใจในการละเว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐ และยาพิษทั้ง ๕ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ และริษยา ดำเนินชีวิตทุกก้าวย่างอย่างไม่ประมาท ด้วยการประพฤติดีปฏิบัติชอบตั้งแต่ก่อนตายไปจนถึงขณะกำลังตาย  เพราะทั้งกรรมดีและกรรมชั่วจะส่งผลไปภายหลังการตาย และด้วยการปฏิบัติธรรมอันมีโพธิจิตเป็นรากฐานโดยเน้นการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ชัดเจน ใสกระจ่าง ว่าง และกว้างใหญ่ไพศาล มีมหากรุณาช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ทางกายและใจ ทั้งในขณะที่มีชีวิตอยู่และเมื่อถึงเวลาใกล้ตายหรือตายแล้ว พระลามะหรือคนที่ฝึกจิตมาอย่างดีจะสามารถทำโพวาช่วยส่งวิญญาณหรือขับเคลื่อนดวงจิตในขณะที่อยู่ในบาร์โดให้ไปสู่สุคติหรือพุทธเกษตรได้ 

      ในการบูรณาการการเตรียมตัวตายในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับวัชรยานให้ใช้ได้กับพุทธศาสนิกชนชาวไทยเพื่อพร้อมเผชิญความตายอย่างมีสตินั้น  สามารถทำได้ดังนี้ ๑) การบ่มเพาะความเมตตาและกรุณาในหัวใจ  ๒) เรียนรู้กระบวนการตายจากคัมภีร์มรณศาสตร์เพื่อรู้จักคุ้นเคยกับขั้นตอนการตาย  ๓) เสริมสร้างให้จิตมีศักยภาพ ในการเจริญมรณสติและเจริญอภิณหปัจจเวกขณ์เพื่อพิจารณาเนือง ๆ ถึงความจริงของชีวิต และฝึกโพวาเพื่อช่วยส่งจิตทั้งของผู้อื่นและของตนเองให้ไปสู่สุคติหรือพุทธเกษตร ดังนั้นชาวพุทธทั้งหลายจึงควรปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้  เพื่อให้ตระหนักรู้ในเรื่องการดำเนินชีวิตที่ดีอย่างมีปัญญา และสามารถข้ามพ้นอวิชชาไปได้ 

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕