หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระภาสน ถิรจิตฺโต (ส่งศรี)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๔ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบความเชื่อในพิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ากับชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระภาสน ถิรจิตฺโต (ส่งศรี) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระปลัดเสน่ห์ ธมฺมวโร
  ผศ.,ดร.พูนชัย ปันธิยะ
  นางไฉไลฤดี ยุวนะศิริ
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาความเชื่อในพิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านแม่จันใต้กับชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความเชื่อในพิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่ากับกับชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ และเปรียบเทียบความเชื่อในพิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านแม่จันใต้กับชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ โดยใช้วิธีการวิจัยทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึกจากลุ่มผู้รู้และบุคคลที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับนำหลักวิชาการมาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์แล้วนำเสนอผลการวิจัยโดยการพรรณนาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า

                      ความเชื่อการเลือกคู่ครอง ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ จะเลือกจากความพึงพอใจของตนเองเป็นหลัก สิ่งที่สำคัญต้องเป็นคนดี ไม่เกี่ยวข้องอบายมุขต่างๆ เพราะต่างก็มีความเชื่อว่า เมื่อแต่งงานกันไปแล้วสามารถสร้างฐานะให้มั่นคงได้ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านแม่จันใต้ ไม่นิยมเลือกคู่ครองที่ต่างฝ่ายต่างเป็นลูกคนสุดท้องและไม่นิยมเลือกคนในวงศ์ตระกูลเดียวกันหรือต่างชาติพันธุ์ ชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ เฉพาะคนที่มีสถานภาพทางสังคมสูง พ่อแม่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ สำหรับความเชื่อการเกี้ยวพาราสี ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์มีการใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อและมีการนำโทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นสื่อในการพูดคุย กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านแม่จันใต้ ห้ามเกี้ยวพาสีในบ้าน เพราะมีความเชื่อว่าจะถูกผีบรรพบุรุษลงโทษให้มีอันเป็นไป โดยจะมีสถานที่เฉพาะคือลานเที่ยวในชุมชน ชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ ใช้สถานที่ที่บ้านของฝ่ายหญิงกับสถานที่ของวัดช่วงมีงานเทศกาล และจะไม่มีการร่วงเกินเพราะมีความเชื่อว่า เป็นสิ่งไม่ดีผิดผีปู่ย่าผีตายาย ความเชื่อการทาบทามสู่ขอ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านแม่จันใต้ จะใช้เพื่อนหรือญาติที่เป็นชายเท่านั้น ในวันที่ไปทาบทามสู่ขอมีการนำเหล้าขาวไปมอบให้กับพ่อของฝ่ายหญิง ส่วนชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ ผู้ทำหน้าที่สู่ขอไม่กำหนดว่าจะเป็นหญิงหรือชายแต่ต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายหญิง เมื่อตกลงกันได้ จะทำพิธี “ใส่ผีค้างไว้ก่อน” เปรียบเสมือนเป็นการตกลงหมั้นหมายไปในตัว และก่อนการแต่งงานห้ามมีการสร้างเรือนหอ เพราะกลัวจะเกิดอาถรรพ์จะ ทำให้คู่รักเกิดการแตกแยกพลัดพรากจากกันมีอันเป็นไปไม่สามารถแต่งงานกันได้

                      ความเชื่อพิธีกรรมเกี่ยวกับการหมั้น กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าไม่มีพิธีหมั้น ส่วนชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ ในวันหมั้นจะมีการทำพิธีบอกกล่าวผีปู่ย่าผีตายาย เพื่อขอความคุ้มครองในการจัดงานและความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว สำหรับฤกษ์ยาม กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านแม่จันใต้ สามารถแต่งงานได้ทุกเดือนแต่มีข้อห้ามตายตัว โดยจะดูจากวันเกิดของชายกับหญิงและดูวันย้อนหลังของคนในครอบครัวทั้งสองฝ่าย ชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ กำหนดให้ตรงกับเดือนคู่ วันที่แต่งงานจะเลือกให้ตรงกับ “วันหัวเรียงหมอน” ส่วนฤกษ์ที่เป็นเวลาจะถือเอาเลข ๙ เป็นสำคัญ

                      เครื่องประกอบพิธีกรรม กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านแม่จันใต้ มีทั้งข้อห้ามและข้อต้องปฏิบัติให้มี ข้อห้ามได้แก่ เนื้อสัตว์และผักทุกชนิดที่เกิดจากธรรมชาติในป่า เพราะมีความเชื่อว่า จะมีวิญญาณชั่วร้ายติดตามมาด้วย  ส่วนข้อที่ต้องปฏิบัติให้มี คือหยวกกล้วยเผา เพราะมีความเชื่อว่า กล้วยจะนำมาซึ่งการแตกหน่อแตกกอ นอกจากนั้นจะใช้ไก่ตัวเมียสีดำเป็นสัญลักษณ์แทนตัวฝ่ายเจ้าสาวและหมูตัวผู้สีดำเป็นสัญลักษณ์แทนตัวฝ่ายเจ้าบ่าว มีการทำนายดวงชะตาชีวิต โดยดูจากเส้นสีขาวที่ติดกับหมู ชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ ให้ความสำคัญกับพานบายศรี ที่ใช้สำหรับเป็นเครื่องเชิญขวัญของคู่บ่าวสาวและเชื่อเรื่องน้ำมนต์ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถที่จะขับไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไปได้ ในส่วนของผู้ประกอบพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านแม่จันใต้สามารถที่จะกำหนดบุคคลใดก็ได้ ส่วนชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำกำหนดให้มีเพียงคนเดียวในหมู่บ้าน

                      ขั้นตอนพิธีกรรม กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านแม่จันใต้ จัดพิธีแต่งงาน ๓ วัน ที่บ้านของฝ่ายชาย ค่าใช้จ่ายฝ่ายชายเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด มีข้อห้าม คือ ๑. ห้ามญาติ ทางฝ่ายเจ้าสาวเข้าร่วมพิธีกรรมทั้ง ๓ วัน เพราะเชื่อว่าบุตรที่เกิดมาจะเป็นใบ้หรือพิการ ๒. ห้ามเจ้าบ่าวเจ้าสาวอาบน้ำทั้ง ๓ วัน เพราะมีความเชื่อว่ามีผีร้ายสิงอยู่ในน้ำ เกรงว่าจะมาทำให้มีอันเป็นไป ชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ จัดพิธีแต่งงาน ๑ วัน ที่บ้านของฝ่ายหญิง สิ่งที่เป็นข้อห้ามไม่มี

                      ความเชื่อพิธีกรรมหลังการแต่งงาน สองกลุ่มชาติพันธุ์ต่างก็มีความเชื่อเรื่อง “ผีบรรพบุรุษ” กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้านแม่จันใต้ หลังจากแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะย้ายมาอยู่กับครอบครัวของสามี ส่วนชาวพุทธล้านนาบ้านแม่ต๋ำ ฝ่ายชายจะย้ายมาอยู่กับครอบครัวของภรรยา

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕