หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาไสว โชติโก (ทำนา)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๐ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ธรรมกายในพระพุทธศาสนา (๒๕๔๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาไสว โชติโก (ทำนา) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต)
  ผศ.ดร.สมภาร พรมทา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๓
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งสำรวจ ประมวลและศึกษาคำสอนเรื่องธรรมกายที่ปรากฎในพระไตรปิฎกและอรรถกถาของฝ่ายเถรวาท     ในพระสูตรมหายาน   และในคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมนุนี : สด  จนฺทสโร) ในเรื่องความหมาย  ลักษณะตามสามัญลักษณะ  องค์ประกอบและวิธีการเข้าถึง ว่ามีความเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

          ผลการวิจัยพบว่า  ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาของเถรวาท  ธรรมกายเป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า  อรรถกถาอธิบายต่อว่า  หมายถึงพระองค์เป็นที่รวมธรรมและหลั่งธรรมออกมา  ธรรมกายประกอบด้วยโลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑  และพระนิพพานนั้น มีลักษณะเป็นนิจจัง  สุขัง อนัตตา  เข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาหรือมรรคมีองค์แปดที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา

          สำหรับพระพุทธศาสนามหายาน  ธรรมกายเป็นกายหนึ่งในตรีกาย คือ ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมาณกาย     ธรรมกายนี้มีคำใช้เรียกอีกหลายคำ  เช่น ตถตา  ตถาคตคัพภะ  ธรรมตา มีลักษณะเป็นสุญญตา  เป็นอมตะและเป็นอนัตตา  ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าถึงธรรมกายได้โดยการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาโดยเฉพาะคือ ปัญญา

          ในคำสอนของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ  ธรรมกายเป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า  และเป็นกายที่สุดละเอียดของมนุษย์  ธรรมกายนี้อยู่พ้นการปรุงแต่งทั้งปวง  ไม่ตกอยู่ในอาณัติของไตรลักษณ์  เป็นอสังขตะ  มีลักษณะเป็นนิจจัง  สุขัง  อัตตา ธรรมกายเข้าถึงได้ด้วยหลักไตรสิกขาหรือมัชฌิมาปฏิปทาตามการตีความของหลวงพ่อวัดปากน้ำซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ  แต่ไม่ปรากฎในคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทและของมหายานทั่วไป
 

Download : 254317.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕