หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาปริญญา วรญาโณ (ทศช่วย)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๓ ครั้ง
ความเชื่อเรื่องโลกยุคพระศรีอริยเมตไตรยของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาปริญญา วรญาโณ (ทศช่วย) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต
  ดร.ประยูร แสงใส
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ๑)  ความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรยในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒)  ความเชื่อเรื่องโลกยุคพระศรีอริยเมตไตรยที่ปรากฏในคัมภีร์ ตำราต่างๆ ของชาวพุทธไทย และในทัศนะของปราชญ์พุทธและนักวิชาการศาสนา ๓) ความคาดหวังผลแห่งความเชื่อเรื่องโลกยุคพระศรีอริยเมตไตรยของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด

ผลจากการศึกษาพบว่า พระศรีอริยเมตไตรย  ได้บำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลซึ่งอยู่ในภัทรกัปนี้ พระองค์ได้ตั้งปณิธานปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเป็นกษัตริย์นามว่า สังขจักรโพธิสัตว์ สมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า สิริมิตร  ต่อมาในสมัยพระโคตมะพุทธเจ้า ได้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุนามว่า อชิตะ ได้รับพยากรณ์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลนามว่า พระศรีอริยเมตไตรย  ทรงบำเพ็ญบารมี “พุทธการกธรรม” คือ ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่า “ทศบารมี” บารมี ๑๐ ประการ  ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา หรือ บารมี ๓๐ ทัศ ชาติที่จะมาเกิดในกึ่งพุทธกาล บำเพ็ญบารมีเหมือนพระเวสสันดร คือสัตตดกมหาทาน สละบุตรและภรรยา  ทรงมีพุทธภูมิธรรม คือ คุณธรรมของพระนิยตโพธิสัตว์ ๔ ประการ ได้แก่ มีความองอาจกล้าหาญในการทำความดี มีปัญญาแก่กล้าเชี่ยวชาญ มีพระหทัยหนักแน่นมั่นคงในอธิษฐานธรรม และมุ่งกระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น  การตรัสรู้ธรรมด้วยหลักคำสอนเหมือนพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน นั่นคือ หลักอริยสัจ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มัคค์  พระศรีอริยเมตไตรย ขณะนี้ มีนามว่า นาถเทวเทพบุตรโพธิสัตว์ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นพระนิยตโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระโคตมะพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ประเภทวิริยาธิกะ แปลว่า ผู้ยิ่งด้วยวิริยะ คือ ยิ่งด้วยความเพียร  ความกล้าหาญ 

ความเชื่อเรื่องโลกยุคพระศรีอริยเมตไตรย ในพระพุทธศาสนาจะแบ่งช่วงเวลาของโลกออกเป็น ๔ ยุค คือ กฤตยุค เตฺรตรยุค ทฺวาปรยุค กลิยุค โลกยุคพระศรีอริยเมตไตรยอยู่ในช่วง กฤตยุค ซึ่งเป็นยุคที่ดีที่สุด และทัศนะของปราชญ์พุทธและนักวิชาการศาสนาที่มีต่อความเชื่อดังกล่าว พบว่า เป็นโลกยุคอดมคติ อุดมการณ์ จินตนาการ เชื่อว่ามีจริงเพราะมีปัจจุบันและอนาคตก็ต้องมี เป็นความคาดหวัง คนเราเมื่อได้ทำบุญตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓  คือ การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา รวมทั้งการฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์จบในวันเดียวแล้ว จะได้มีโอกาสไปพบพระศรีอริยเมตไตรย  เป็นความหมายในทางภาษาคน เรียกว่า  ปุคลาธิษฐาน  แต่ทาง ภาษาธรรม  เรียกว่า ธรรมมาธิษฐาน  เมื่อบุคคลใดได้ทำความดี มีเมตตากรุณาต่อกัน มีความรักปรารถนาดีต่อกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขแล้ว ก็จะกลายเป็นโลกยุคพระศรีอริยเมตไตรยขึ้นมาทันที ทัศนะเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสังคมในยุคอุดมคติมีอยู่ทั้งในทางปรัชญาและศาสนา  คือ  อุดมรัฐของเพลโต  ยูโธเปียของโธมัส  มอร์  สังคมคอมมิวนิสต์ของคาร์ลมากซ์  โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาสังคมในอุดมคติ  คือ  สังคมยุคพระศรีอริยเมตไตรย นั่นเอง ซึ่งเป็นโลกในยุคอุดมคติหรืออุดมการณ์ 

ความคาดหวังผลแห่งความเชื่อเรื่องโลกยุคพระศรีอริยเมตไตรยของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า ด้านบุคคล ผู้เชื่อต่างก็หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา  และฟังเทศน์มหาชาติ  ส่วนผู้ไม่เชื่อก็เพียงแต่ทำบุญตามประเพณีมิได้คำนึงถึงเรื่องโลกยุคพระศรีอริยเมตไตรย  ด้านครอบครัว ชาวพุทธในแต่ละชุมชน ต่างก็ร่วมกิจกรรมบุญในงานประเพณีบุญมหาชาติ  โดยการเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม ด้านสังคมและวัฒนธรรม ต่างรักสามัคคี เอื้ออาทร เกื้อกูล มีเมตตา กรุณาต่อกัน และสืบทอดรักษาประเพณีวัฒนธรรม จัดให้เป็นประเพณีบุญมหาชาติซึ่งเรียกในภาษาอิสาน ว่า บุญผะเหวด เป็นบุญประจำปีของจังหวัดร้อยเอ็ดที่จัดขึ้นในสัปดาห์แรกของต้นเดือนมีนาคม  ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม จิตรกรได้วาดภาพตามวัด เช่น วิหาร อุโบสถ ภาพปูนปั้นพระเจ้า ๕ พระองค์ และภาพการสนทนาธรรมระหว่างพระมาลัยเถระกับพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ในสวรรค์ชั้นดุสิตไว้  ด้านจิตใจ เป็นการกระตุ้นเตือนจิตใจให้ชาวพุทธได้ทำความดี หากต้องการไปเกิดในโลกยุคพระศรีอริยเมตไตรยในอนาคตกาล 

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕