หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสุวรรณ สุวณฺโณ (เรืองเดช)
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๓ ครั้ง
ศึกษาผลการเจริญสติปัฏฐานตามแนวทางปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ : กรณีศึกษาสำนักปฏิบัติธรรมมหาสติปัฏฐาน ๔ บ้านเหล่าโพนทอง (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระสุวรรณ สุวณฺโณ (เรืองเดช) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ, ดร.
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต
  รศ. อุดม บัวศรี
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ เพื่อศึกษาการเจริญสติตามแนวทางมหาสติปัฏฐานสูตร การเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน  จิตฺตสุโภ และผลการเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน  จิตฺตสุโภ  ซึ่งสรุปผลการวิจัย  มีดังนี้

                  การเจริญสติตามแนวทางมหาสติปัฏฐานสูตร พบว่า การเจริญสติในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงมีวัตถุประสำคัญ เพื่อให้พุทธบริษัท ๔ ได้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนในส่วนที่เป็นวิปัสสนาธุระ หรือ งานของจิต โดยมุ่งหวังผลของการเจริญสติ คือ การหลุดพ้นจากเครื่องผูกพันธนาการของกิเลสและตัณหา เพราะว่า มหาสติปัฏฐาน นี้ เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียว ที่จะนำเวไนยสัตว์ให้สามารถหลุดพ้นจากอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองของใจได้ ทั้งนี้ ผู้เจริญสติ พึงมีสติกำหนดระลึกรู้อยู่ในกายานุปัสสนา  (การพิจารณารู้กายในกาย) เวทนานุปัสสนา (การพิจารณารู้เวทนาในเวทนา)  จิตตานุปัสสนา (การพิจารณารู้จิตในจิต)  และธรรมานุปัสสนา  (การพิจารณารู้ธรรมทั้งหลายในธรรมทั้งหลาย มีอริยสัจ ๔ เป็นต้น)

 

                  การเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน  จิตฺตสุโภ พบว่า หลวงพ่อเทียน  จิตฺตสุโภ  เน้นการสอนให้ผู้ปฏิบัติเจริญสติในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดอิริยาบถบรรพ คือ การยืน เดิน นั่ง นอน และหมวดสัมปชัญญะมรณะ คือ การกำหนดอิริยาบถน้อยอื่นๆ อีก เช่น ดื่ม พูด เหลียวหลัง ยกมือ  เป็นต้น วิธีการปฏิบัติต่อความคิด คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการสอนให้ผู้ปฏิบัติรู้เท่าทันความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ไม่ต้องปรุงแต่งไปตามความคิดไม่ว่าจะเป็นความคิดดีความคิดไม่ดีก็ตาม เพียงแต่กำหนดรู้สึกตัวเท่านั้นก็พอ เมื่อทำได้บ่อยๆ แล้วปัญญาในการพิจารณาย่อมเกิด จะทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ตกเป็นเหยื่อของความคิดและไม่เป็นทุกข์เพราะความคิดที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนการควบคุมอารมณ์และการตรวจสอบการเจริญสติ โดยปกติก็จะเป็นหน้าที่ของพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีความชำนาญในรูปแบบการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เช่น พระอาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ และพระอธิการกุสุม ผาสุโก (เจ้าอาวาสสำนักปฏิบัติธรรมมหาสติปัฏฐาน ๔) เป็นต้น  จากการศึกษายังพบว่าสำนักปฏิบัติธรรมเจริญสติของสำนักปฏิบัติธรรมมมหาสติปัฏฐาน ๔ บ้านเหล่าโพนทอง ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกสำนักหนึ่งที่ได้นำหลักการและวิธีการต่างๆ ของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ไปอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ โดยเป็นการอบรมของพระวิปัสสนาจารย์ที่เคยร่วมปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ มาเป็นอย่างดีหรือเป็นผู้มีความชำนาญในการสอนตามแนวทางรูปแบบการเคลื่อนไหวนี้

                  ผลการเจริญสติตามแนวปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ  พบว่า ผู้ปฏิบัติสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีกว่าเดิม มีสติระลึกรู้ในการทำงาน เข้าใจคนอื่นได้ดี ปรับสภาวะทางจิตให้ยืดหยุ่นได้ มีความตั้งใจมั่น หรือทำให้มีสมาธิจิตที่ยาวนานกว่าเดิม ทำให้เกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น เมื่อมีสติก็ไม่ก่อปัญหาอาชญากรรม ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มสุราและเมรัย ตลอดจนสิ่งเสพติดต่างๆ หลีกเว้นการก่อปัญหาทางสังคม ตรงกันข้าม ผู้ปฏิบัติธรรมกลับมีจิตใจที่เมตตาต่อคนอื่น โดยคอยให้การช่วยเหลืองานสังคมหรือชุมชนตามกำลังของตน รู้จักเสียสละ บำเพ็ญประโยชน์เป็นสาธารณะหรือมีจิตสาธารณะ อันจะยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ตน ครอบครัวและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕